Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ จุดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยเรื่องอายุความในคดีประกันภัย

จุดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยเรื่องอายุความในคดีประกันภัย

842

จุดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยเรื่องอายุความในคดีประกันภัย

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 56,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่นางรัตนาภรณ์เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขฉก ระยอง 350 ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยมิใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพให้แก่ผู้ประสบภัยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 และ 16 สิงหาคม 2556 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2559 ระหว่างบริษัทสหมงคลประกันภัย จำกัด โจทก์ กับนายอุทัย จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด นั้น เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย โดยโจทก์มีนายวันเฉลิมผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความประกอบตารางกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนจำเลยไม่สืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขฉก ระยอง 350 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จากนางรัตนาภรณ์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ซึ่งอยู่ในระยะเวลาคุ้มครอง จำเลยขับรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บว 338 ระยอง ด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ซึ่งมีนางสาววรกานต์เป็นคนขับโดยได้รับความยินยอมจากนางรัตนาภรณ์ เป็นเหตุให้นางสาววรกานต์ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลกรุงเทพ ระยอง ผู้รับมอบอำนาจจากนางรัตนาภรณ์เป็นเงิน 15,000 บาท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 และเป็นค่าปลงศพให้แก่นางรัตนาภรณ์เป็นเงิน 35,000 บาท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 รวมเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 6,250 บาท ตามที่โจทก์ขอมา

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 เมษายน 2558) ต้องไม่เกิน 6,250 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท

สรุป ร. เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935
Facebook Comments