Home คดีอาญา การใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมในสัญญาประกันชีวิต  กรณี ไม่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาพ จะมีผลเมื่อใด ?

การใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมในสัญญาประกันชีวิต  กรณี ไม่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาพ จะมีผลเมื่อใด ?

2977

การใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมในสัญญาประกันชีวิต  กรณี ไม่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาพ จะมีผลเมื่อใด ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๘๖๕ ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

 

การใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมของผู้รับประกันภัยในสัญญาประกันชีวิต กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาพนั้น จะมีผลเมื่อใด

กรณีไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับสุขภาพดังกล่าว ซึ่งหากผู้รับประกันภัยทราบมาก่อนอาจปฏิเสธไม่ทำสัญญา หรือเรียกเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้นได้นั้น 🧮 ต่อมาหากผู้รับประกันภัยได้ทราบมูลอันอาจจะใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 1️เดือน นับแต่วันที่บุคคลใดทราบระหว่าง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินไหมผู้รับเอกสารประวัติการรักษาของผู้เอาประกันภัยจากโรงพยาบาล หรือ สำนักงานสาขาของผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว หรือ สำนักงานใหญ่ของผู้รับประกันภัย

ก่อนทำสัญญาประกันชีวิต แต่ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจจะจูงใจให้ผู้รับประกันภัยปฏิเสธไม่ทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้นนั้น แม้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินไหมจะได้รับเอกสารสำเนาบันทึกประวัติการรักษาของผู้เอาประกันภัยไว้ก่อนแล้วก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินไหมดังกล่าวมิได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน หรือเป็นตัวแทนของผู้รับประกันภัยแต่อย่างใด และการที่สำนักงานสาขาของผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะต้องส่งเอกสารไปยังสำนักงานใหญ่ของผู้รับประกันภัยเพื่อพิจารณานั้น ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าสำนักงานสาขาดังกล่าวไม่มีอำนาจบอกล้างสัญญาได้ สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายในกำหนด 1️เดือน จึงต้องนับจากวันที่สำนักงานใหญ่ทราบข้อมูลอันจะบอกล้างได้ ซึ่งเป็นวันที่ได้รับรายงานความเห็นจากสำนักงานสาขาของผู้รับประกันภัย

การประกันชีวิต (Life Insurance) หมายถึง การประกันภัยที่การจ่ายเงินอาศัยการทรงชีพ หรือการมรณะของบุคคลเป็นเหตุในการจ่าย โดยการเฉลี่ยภัยซึ่งกันและกันที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในลักษณะการเสี่ยงภัยประเภทเดียวกันและร่วมกัน เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับบุคคลที่สูญเสียชีวิต

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา มีดังต่อไปนี้  คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙/๒๕๖๒

จำเลยรับว่าทำสัญญาประกันชีวิตจริง แต่กล่าวอ้างว่าสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆะเพราะ ค. ผู้เอาประกันภัยมารดาโจทก์ปกปิดข้อมูลไม่เปิดเผยข้อความจริงให้จำเลยทราบว่ามีสุขภาพไม่สมบูรณ์เจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคดีซ่าน และโรคมะเร็งท่อน้ำดี มาก่อนทำสัญญาประกันชีวิตโดยแจ้งว่ามีสุขภาพดีภายในระหว่าง 3 ปี ก่อนทำสัญญาประกันชีวิตไม่เคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาล ทำการรักษา ตรวจโลหิต ความดันโลหิต ปัสสาวะ เอกซเรย์ ตรวจหัวใจ หรือตรวจอย่างอื่น ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย

ค. ผู้เอาประกันภัยทำประกันชีวิตโดยปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องสุขภาพ หากจำเลยทราบก่อนทำสัญญาประกันชีวิตจำเลยจะเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างแล้ว สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆะ แม้การทำประกันภัยแบบไม่ต้องตรวจสุขภาพหรือตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพก็จะถือว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพมิใช่สาระสำคัญอีกต่อไปหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๙๗/๒๕๓๖

ผู้เอาประกันภัยในสัญญาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตนเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคแรก มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ และจะถือว่าการที่ผู้รับประกันภัยไม่ตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก่อนเป็นการละเลยหาได้ไม่ แม้การประกันชีวิตในทุนประกันภัยต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้รับประกันภัยไม่ถือเอาเรื่องสุขภาพของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ สัญญาประกันภัยชีวิตที่กระทำโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคแรก เป็นโมฆียะมีผลให้ผู้รับประกันภัยใช้สิทธิบอกล้างได้ หากผู้รับประกันภัยไม่ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวย่อมใช้บังคับได้ จึงเป็นสิทธิของผู้รับประกันภัยจะบอกล้างหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น แม้ผู้รับประกันภัยจะใช้สิทธิบอกล้างแต่เพียงเฉพาะสัญญารายใดก็หาเป็นการไม่ชอบไม่

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า สำนักงานสาขาดังกล่าวไม่มีอำนาจบอกล้างสัญญาได้ สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายในกำหนด 1️เดือน จึงต้องนับจากวันที่สำนักงานใหญ่ทราบข้อมูลอันจะบอกล้างได้ ซึ่งเป็นวันที่ได้รับรายงานความเห็นจากสำนักงานสาขาของผู้รับประกันภัย

Facebook Comments