Home คดีอาญา กลับรถในขณะมีระยะไม่ปลอดภัย ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่

กลับรถในขณะมีระยะไม่ปลอดภัย ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่

3372

กลับรถในขณะมีระยะไม่ปลอดภัย ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายสมศักดิ์ ช้อยเชื้อดี กับนายคำเขียน ชาติโยผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เรียกนายสมศักดิ์เป็นโจทก์ร่วมที่ 1 นายคำเขียนเป็นโจทก์ร่วมที่ 2

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5ธ-9506 กรุงเทพมหานคร เลี้ยวขวาตัดผ่านช่องเดินรถที่ 1 ไปช่องเดินรถที่ 2 และไปถึงเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเพื่อกลับรถก็ถูกรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 8ฟ-8447 ขับโดยนายสมศักดิ์ ช้อยเชื้อดี โจทก์ร่วมที่ 1และมีนายคำเขียน ชาติโย โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้ซ้อนท้ายแล่นตามหลังมาในช่องเดินรถที่ 2 พุ่งเข้าชนบริเวณประตูหน้าด้านขวามือของจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสองรับอันตรายสาหัสปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีเพียงข้อเดียวว่า จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยประมาทหรือไม่ เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีโจทก์ร่วมทั้งสองและนายอรรณพ บินฮัดเป็นประจักษ์พยานแต่คำเบิกความของโจทก์ร่วมทั้งสองและนายอรรณพแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญประการหนึ่ง กล่าวคือ โจทก์ร่วมทั้งสองเบิกความว่าขณะโจทก์ร่วมที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาจนห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ15 เมตร เห็นรถยนต์จำเลยจอดอยู่ที่ริมถนนด้านซ้ายมือในช่องเดินรถที่ 1 แล้วเลี้ยวขวาออกมาโดยกะทันหัน โจทก์ร่วมที่ 1 พยายามหักรถหลบออกทางขวาแต่ไม่พ้น รถจึงพุ่งเข้าชนรถยนต์จำเลย ส่วนนายอรรณพกลับเบิกความว่า ขณะจำเลยเลี้ยวขวาเพื่อกลับรถมีรถยนต์เก๋งคันหนึ่งแล่นมาในทางเดินรถเดียวกันในช่องเดินรถที่ 2 เมื่อจำเลยให้สัญญาณขอทาง รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวชะลอความเร็วและหยุดรถให้จำเลยกลับรถตัดผ่านจากช่องเดินรถที่ 1 ไปช่องเดินรถที่ 2 และไปถึงเส้นแบ่งกึ่งกลางถนน ก็ถูกรถจักรยานยนต์ที่ขับโดยโจทก์ร่วมที่ 1พุ่งเข้าชนจึงเห็นควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ร่วมทั้งสองเบิกความหรือเป็นดังที่นายอรรณพเบิกความ เห็นว่านายอรรณพเป็นเพื่อนร่วมงานกับจำเลย เหตุเกิดหลังจากจำเลยขับรถไปส่งนายอรรณพและภริยา และคำเบิกความของนายอรรณพดังกล่าวข้างต้นยังแตกต่างกับคำเบิกความของจำเลยในข้อสาระสำคัญหลายประการ กล่าวคือจำเลยกลับเบิกความว่า รถยนต์คันที่ชะลอความเร็วให้รถยนต์จำเลยเลี้ยวขวาคือรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะไม่ได้หยุดรถเพียงแต่ชะลอความเร็วให้รถจำเลยแล่นผ่านแล้วรถยนต์กระบะก็แล่นอ้อมท้าย รถยนต์ จำเลยเข้ามาในช่องเดินรถที่ 1และแล่นผ่านไปจึงทำให้คำเบิกความของนายอรรณพในข้อดังกล่าวขาดน้ำหนัก ส่วนพยานโจทก์ร่วมทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันและตามที่ปรากฏจากบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจรเอกสารหมาย จ.8 กับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.9ก็ไม่ปรากฏว่ามีรถยนต์กระบะหรือรถยนต์เก๋งจอดให้รถยนต์จำเลยแล่นผ่านคำเบิกความของโจทก์ร่วมทั้งสองจึงมีน้ำหนักน่ารับฟัง เมื่อจำเลยกลับรถในขณะที่มีรถอื่นตามมาในระยะน้อยกว่า 100 เมตร จึงเป็นการขับรถยนต์โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 52 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการขับรถ ถือได้ว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ส่วนที่โจทก์ร่วมที่ 1ขับรถจักรยานยนต์ในช่องเดินรถที่ 2 ไม่ขับในช่องเดินรถซ้ายสุดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรค 2 ก็ดีหรือขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วเกินสมควรหรือไม่ก็ดี ไม่ว่าการกระทำของโจทก์ร่วมที่ 1 จะเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่ก็หาทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นการกระทำโดยประมาทกลับเป็นไม่ประมาทไปได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแต่ตามพฤติการณ์ของคดี เห็นควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด1 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

Facebook Comments