Home บทความคดีแพ่ง ตกลงเลิกสัญญาโดยปริยาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ตกลงเลิกสัญญาโดยปริยาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

1481

ตกลงเลิกสัญญาโดยปริยาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ก็ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน720,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์กับจำเลยยกเลิกข้อตกลงกันแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลง แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ถือเอากำหนดเวลาในข้อตกลงเป็นสาระสำคัญ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2529 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4ให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินเข้าโครงการเคหะสงเคราะห์ของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อยแล้วปลูกสร้างบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อให้สมาชิกคุรุสภาเช่าซื้อ โดยผ่อนชำระราคาในระยะยาว และจำเลยที่ 1 จะต้องสร้างบ้านตัวอย่าง 1 หลัง บนที่ดินไม่น้อยกว่า 120 ตารางวา ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ลงนามในหนังสือข้อตกลงเพื่อให้สมาชิกคุรุสภาได้ดูวัสดุตัวอย่างที่นำมาก่อสร้างตรวจสอบฝีมือและคุณภาพในการก่อสร้าง และจะมอบบ้านตัวอย่างพร้อมที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามหนังสือข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 12 แต่ในที่สุดจำเลยที่ 1 ไม่ได้โอนบ้านตัวอย่างพร้อมที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้หรือไม่เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่บังคับให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติในระหว่างที่หนังสือข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 ยังมีผลบังคับ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามโจทก์มีสิทธิที่จะเลิกหนังสือข้อตกลงเสียได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 17 และหากมีความเสียหายเกิดขึ้น โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการยกเลิกหนังสือข้อตกลงได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16 กรณีจึงมีปัญหาว่าหนังสือข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 ได้ยกเลิกไปแล้วหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือข้อตกลงดังกล่าวยังไม่มีการยกเลิกนั้น ตามหนังสือข้อตกลงดังกล่าวข้อ 17 ระบุถึงการเลิกข้อตกลงว่า “ถ้าผู้รับโครงการไม่ดำเนินการใด ๆ หรือดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อผูกพันในข้อตกลงแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด ภายในกำหนด 90 วัน ถือว่าข้อตกลงนี้สิ้นสุดลง โดยมิต้องบอกกล่าวให้ผู้รับโครงการทราบ คุรุสภาจะสรรหาผู้รับเป็นผู้รับโครงการอื่นต่อไป” ดังนี้แม้นายทองสุข มัณตาธร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ นายพงษ์พันธ์ พลเยี่ยม นายกิตติพล ชะลอกลาง และนายกำแหง พรมสุทธิกุล พยานโจทก์ จะเบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังจากครบกำหนดเวลาที่โจทก์อนุมัติต่ออายุสัญญาให้แล้ว จำเลยที่ 1ไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์บ้านตัวอย่างพร้อมที่ดินให้โจทก์ แต่กลับนำไปขายให้ผู้อื่น โจทก์ได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาหลายครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าหนังสือข้อตกลงยังไม่มีการยกเลิกก็ตาม แต่พยานเหล่านี้ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านในทำนองเดียวกันว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมโอนบ้านตัวอย่างพร้อมที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโครงการเคหะสงเคราะห์ดังกล่าวประสบความล้มเหลว โจทก์ได้จัดให้ผู้อื่นเข้าดำเนินโครงการส่วนจำเลยที่ 1 ได้นำป้ายโครงการออกแล้วใช้ชื่อ “หมู่บ้านเดชา” ดำเนินการต่อมาและตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2530 ถึงเดือนมกราคม 2535 โจทก์และจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ติดต่อกันทางเอกสารเลย รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างไม่ติดใจที่จะปฏิบัติตามหนังสือข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 ต่อไป หนังสือข้อตกลงดังกล่าวย่อมยกเลิกกันโดยปริยาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามหนังสือข้อตกลงที่เลิกกันไปแล้วได้ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษ มิใช่สัญญาต่างตอบแทนธรรมดานั้น เห็นว่าเมื่อได้วินิจฉัยว่าหนังสือข้อตกลงดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้ว ไม่มีผลบังคับจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์อีก เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

หนังสือข้อตกลงระบุถึงการเลิกสัญญาว่า “ถ้าผู้รับโครงการไม่ดำเนินการใด ๆหรือดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อผูกพันในข้อตกลงแม้ข้อหนึ่งข้อใด ภายในกำหนด 90 วันถือว่าข้อตกลงนี้สิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวให้ผู้รับโครงการทราบ คุรุสภาจะสรรหาผู้จะรับเป็นผู้รับโครงการอื่นต่อไป” ดังนี้ แม้ ก. และ ห. พยานโจทก์จะเบิกความเพื่อแสดงให้เห็นว่าหนังสือข้อตกลงยังไม่มีการยกเลิกก็ตาม แต่พยานเหล่านี้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อโครงการประสบความล้มเหลว โจทก์ได้จัดให้ผู้อื่นเข้าดำเนินการ ส่วนจำเลยที่ 1 นำป้ายโครงการออกแล้วใช้ชื่อ “หมู่บ้านเดชา” ดำเนินการต่อมา โจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่ได้ติดต่อกันทางเอกสารเป็นเวลาประมาณ 5 ปี พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างไม่ติดใจที่จะปฏิบัติตามหนังสือข้อตกลงต่อไป หนังสือข้อตกลงดังกล่าวย่อมยกเลิกกันโดยปริยายโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามหนังสือข้อตกลงที่เลิกกันไปแล้วได้

เมื่อหนังสือข้อตกลงดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้ว ไม่มีผลบังคับ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่าหนังสือข้อตกลงเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษ มิใช่สัญญาต่างตอบแทนธรรมดา เพราะไม่เป็นสาระแก่คดี

Facebook Comments