Home บทความคดีแพ่ง ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม ต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่

ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม ต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่

951

ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม ต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่

โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2513

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงกล่าวคือ

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2511 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกที่หลบหนีได้บังอาจร่วมกันหลอกลวงนายสงวน วิเศษแสง พนักงานบริษัทพนาสิทธิอัดน้ำยาไม้ จำกัด ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ว่าจำเลยชื่อนายวัชระ พงษ์ชาติเป็นผู้ช่วยผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.แอล. กรุงเทพฯ ซึ่งมีนายสมชาย แซ่ลี้ เป็นผู้จัดการ ได้รับมอบอำนาจให้มาทำสัญญาซื้อขายทรายหยาบซึ่งความจริงในขณะนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.แอล. กรุงเทพฯ ยังมิได้จัดตั้งขึ้น และในระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2511 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2511 บริษัทพนาสิทธิอัดน้ำยาไม้ได้หลงเชื่อในการหลอกลวงดังกล่าวจึงมอบทรายหยาบจำนวน 1,000 คิวบิคเมตร ราคา 40,000 บาท ให้แก่จำเลยไป เหตุเกิดที่ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร และเมื่อระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 2511 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2511วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจร่วมกับพวกที่หลบหนีออกเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด หมายเลข เค.1413802 สั่งจ่ายเงิน 40,000 บาท โดยลงนามนายลีช่งใช้เป็นภาษาจีน และประทับตราชื่อสมชาย แซ่ลี้ เป็นผู้สั่งจ่าย สั่งจ่ายวันที่ 24 พฤษภาคม 2511มอบแต่บริษัทพนาสิทธิอัดน้ำยาไม้ จำกัด เพื่อชำระหนี้ ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2511 พนักงานบริษัทพนาสิทธิอัดน้ำยาไม้ จำกัดได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขาราชประสงค์เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งนี้ โดยจำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น เหตุเกิดที่ตำบลยานนาวา อำเภอยานนาวา และตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน

ก่อนคดีนี้ จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด1 เดือน ฐานผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมาแล้ว และภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยมากระทำผิดคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83, 92 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำเลยใช้เงิน 40,000 บาท แก่บริษัทพนาสิทธิอัดน้ำยาไม้ จำกัด ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับในข้อเคยต้องโทษ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงผู้เสียหาย ยังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนการที่จำเลยออกเช็ครายพิพาท ฟังว่าจำเลยลงชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจริง จำเลยจะใช้ชื่อของบุคคลใดและใช้ชื่อใดมิใช่ข้อสำคัญ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีมีไม่พอ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ลงโทษจำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 8 เดือน คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์มิได้อุทธรณ์คดีจึงยุติส่วนความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น ฟังว่าจำเลยได้เซ็นชื่อแทนนายสมชาย แซ่ลี้ สั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยเจตนาให้เช็คพิพาทผูกพันนายสมชาย แซ่ลี้ มิได้เจตนาให้ผูกพันตัวจำเลยเอง เพราะเช็คพิพาทเป็นของนายสมชาย แซ่ลี้ มิใช่ของจำเลย และจำเลยก็มิได้มีเงินฝากไว้ที่ธนาคาร จะถือว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2511 จำเลยไปติดต่อกับนายสงวนวิเศษแสง พนักงานบริษัทพนาสิทธิอัดน้ำยาไม้ จำกัด ผู้เสียหายซึ่งกำลังส่งทรายอยู่ที่ถนนเซนต์หลุย ซอย 3 ขอซื้อทรายหยาบโดยอ้างว่าชื่อนายวัชระ พงษ์ชาติ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.แอล. กรุงเทพฯ รุ่งขึ้นนายสงวนไปพบจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายทรายหยาบกันเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2511 เป็นจำนวน 1,000 คิวบิคเมตรราคา 40,000 บาท โดยนายปฐมผู้จัดการบริษัทผู้เสียหายและจำเลยลงชื่อเป็นคู่สัญญา ในวันทำสัญญานั้นเอง จำเลยได้มอบเช็คธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม ให้นายสงวน 1 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน 40,000 บาท จำเลยได้ลงชื่อและประทับตราชื่อนายสมชาย แซ่ลี้ เป็นผู้สั่งจ่ายแต่ยังไม่ลงวันที่สั่งจ่าย โดยให้ส่งทรายครบจำนวนเสียก่อน จึงนำเช็คมาให้จำเลยลงวันที่นายสงวนนำทรายไปส่งที่เรือนจำลาดยาวจนครบจำนวนแล้ว ไปติดต่อจำเลยให้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็ค จำเลยขอเลื่อนไป 10 วัน โดยลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คล่วงหน้าให้ เมื่อถึงกำหนด นายสงวนนำเช็คเข้าบัญชีบริษัทผู้เสียหายปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้ไปติดต่อผู้สั่งจ่ายเพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย นายสงวนไปติดต่อจำเลยอีก จำเลยก็เปลี่ยนเช็คให้ใหม่เป็นเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ฉบับพิพาทหมายเลข เค.1413802 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2511 สั่งจ่ายเงิน 40,000 บาท จำเลยได้ลงชื่อสั่งจ่ายในเช็คฉบับนี้เป็นภาษาจีนว่า “ลีช่งใช้” พร้อมกับประทับตราเป็นภาษาไทยว่า “สมชาย แซ่ลี้”เมื่อใกล้ถึงกำหนดจ่ายเงิน นายสงวนไปติดต่อจำเลย จำเลยขอเลื่อนให้ไปขึ้นเงินวันที่ 2 กรกฎาคม 2511 ทางบริษัทผู้เสียหายก็ยินยอมแต่เมื่อถึงกำหนดเอาเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินก็ไม่ได้อีก โดยธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้ติดต่อผู้สั่งจ่าย เพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย นายสงวนจึงไปหาจำเลยที่ที่ทำงานของจำเลย ก็ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนนั้นปิดแล้วติดตามจำเลยก็ไม่พบ จึงแจ้งความตำรวจดำเนินคดี

จำเลยนำสืบว่า ไม่ได้ทำผิดดังที่โจทก์หา จำเลยมีชื่อว่านายเซ็งตึ้งแซ่เอี๊ยะ หรือวัชระ พงษ์ชาติ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.แอล. กรุงเทพฯ มีนายสมชาย แซ่ลี้ เป็นเจ้าของและผู้จัดการ นายสงวนผู้แทนบริษัทผู้เสียหายมาติดต่อขายทรายให้ห้างหุ้นส่วน นายสมชายไม่อยู่นายสงวนจึงติดต่อกับจำเลย การทำสัญญาซื้อขายทรายหยาบตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น จำเลยทำในฐานะตัวแทนนายสมชาย เช็คที่มอบให้นายสงวนทั้งสองครั้งเป็นเช็คที่นายสมชายออกให้ ลายเซ็นชื่อในเช็คก็เป็นลายมือชื่อของนายสมชายไม่ใช่จำเลย เกิดเหตุแล้วนายสมชายได้หลบหนีไป

ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คฉบับพิพาทในชื่อภาษาจีนว่า “ลีช่งใช้”และประทับตราเป็นภาษาไทยว่า “สมชาย แซ่ลี้” ให้ผู้เสียหายเพราะโจทก์มีนายสงวนและนายประจวบเป็นพยานรู้เห็นต้องกัน ไม่มีเหตุระแวงว่าพยานจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานปากเดียว ไม่พอรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เซ็นชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คฉบับพิพาทด้วยตนเอง และการซื้อขายทรายผู้เสียหายก็ติดต่อกับจำเลยผู้เดียวตลอดมา ทำให้ผู้เสียหายหลงผิดว่าจำเลยคือ นายลีช่งใช้ หรือสมชายแซ่ลี้ ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คนั้นเอง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าการที่จำเลยลงชื่อนายสมชายเป็นผู้สั่งจ่ายและใช้เช็คของนายสมชาย โดยทำให้ผู้เสียหายหลงผิดว่าจำเลยเป็นนายสมชายผู้มีอำนาจสั่งจ่ายแล้วผู้เสียหายไปรับเงินไม่ได้เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่นนี้เป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

จึงพิพากษากลับ เป็นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

  • สรุป
  • จำเลยใช้เช็คของ ส. และลงชื่อ ส. เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คนั้น แล้วมอบให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ ทำให้ผู้เสียหายหลงผิดว่าจำเลยเป็น ส. ผู้มีอำนาจสั่งจ่าย แล้วผู้เสียหายไปรับเงินไม่ได้เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่นนี้ ถือเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
Facebook Comments