Home บทความคดีแพ่ง กรณีเผยแพร่คำพิพากษาศาล เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือไม่ ?

กรณีเผยแพร่คำพิพากษาศาล เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือไม่ ?

2503

กรณีเผยแพร่คำพิพากษาศาล เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือไม่ ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๓๒๘ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา 329  ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม  ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป

 

การพิจารณาว่าผู้กล่าวใส่ความมุ่งหมายให้ค่ากล่าวใส่ความสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความคนใดนั้น จะพิจารณาแต่เพียงถ้อยคำพูดเฉพาะส่วนใด แยกเป็นส่วนๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องพิจารณาภาพรวมที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน อีกทั้งยังอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่และเวลาโอกาสรวมทั้งประเด็นปัญหาและเป้าหมายที่ผู้กล่าวใส่ความต้องการสื่อถึงผู้รับฟังคำพูดนั้นประกอบกันด้วย

 

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา มีดังต่อไปนี้  คือ

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๐๕๑๑/๒๕๕๕

การที่จำเลยนำรูปถ่ายเอกสารของผู้เสียหายติดไว้ในสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 522/2546 ของศาลชั้นต้น รวมทั้งเขียนข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับชื่อบิดามารดารวมทั้งวันเดือนปีเกิดของผู้เสียหาย ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับคดีความแล้วใช้ปากกาเน้นข้อความสีเหลืองสะท้อนแสงระบายข้อความในสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวตรงคำว่า เรื่อง ยืมและจำนวนเงินที่ผู้เสียหายจะต้องชำระ รวมทั้งข้อความที่เขียนเพิ่มเติมทั้งหมด จากนั้นนำสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวติดไว้ที่ร้านค้าของจำเลยที่ตั้งอยู่ในตลาดซึ่งมีประชาชนผ่านไปมา จึงเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยการโฆษณา และไม่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329(4)

 

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า แม้กฎหมายจะให้ใช้สิทธิโดยสุจริต แต่ต้องอยู่ในขอบเขต แห่งกฎหมายที่ให้สิทธิ หากซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับคดีความ ไม่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329(4)

 

Facebook Comments