Home บทความคดีแพ่ง ออกเช็คฉบับใหม่แลกเช็คฉบับเดิมมีความผิดทางอาญาหรือไม่

ออกเช็คฉบับใหม่แลกเช็คฉบับเดิมมีความผิดทางอาญาหรือไม่

912

ออกเช็คฉบับใหม่แลกเช็คฉบับเดิมมีความผิดทางอาญาหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลพิพากษากลับให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 จำเลยทั้งสองกระทำผิดรวม 2กระทง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 8 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยโจทก์ให้จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากหนี้เดิมคิดเป็นอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดหรือไม่ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยทั้งสองซื้อสินค้าวาล์วไปจากโจทก์และได้ออกเช็คสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์แต่เช็คนั้นเรียกเก็บเงินไม่ได้ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทสองฉบับให้โจทก์ใหม่ แทนเช็คสองฉบับเดิมโดยสั่งจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากจำนวนหนี้เดิม ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือร้อยละ 18 ต่อปีรวมเข้าไปด้วย ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารเพื่อให้ช่วยเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บัญญัติว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และดอกเบี้ยนั้นมิได้กำหนดอัตราไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันใดอันหนึ่งชัดแจ้งไซร้ท่านให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และมาตรา 224 วรรคแรก บัญญัติว่า หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีถ้าเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น บทบัญญัติสองมาตรานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับดอกเบี้ย โดยให้คิดอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในกรณีที่ไม่มีการตกลงอัตราดอกเบี้ยกันไว้แต่หากคู่กรณีตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็บังคับกันได้นอกจากนี้ มาตรา 224 วรรคท้าย ยังบัญญัติไว้อีกว่าการพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่ใช่หนี้กู้ยืมเงิน แต่เป็นหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์และจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ได้ชำระหนี้ตรงตามกำหนดมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อจำเลยทั้งสองขอออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ใหม่ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดชำระหนี้เดิม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดค่าเสียหายกรณีชำระหนี้ล่าช้าได้ และจำเลยทั้งสองก็ตกลงยินยอมให้คิดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แล้วออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับสั่งจ่ายเงินเพิ่มจำนวนขึ้นจากหนี้เดิมตามที่ตกลงไว้เช่นนี้ มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงสมบูรณ์ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ที่ลงโทษจำเลยที่ 2 ให้จำคุกกระทงละ8 เดือน รวม 2 กระทง ให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน นั้นยังไม่ถูกต้องเนื่องจากในการคำนวณระยะเวลาจำคุกนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21วรรคสองบัญญัติว่า ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ฉะนั้นในกรณีที่กำหนดโทษจำคุกเป็นเดือนในส่วนที่เมื่อรวมกันถึง 12 เดือน ก็จะคิดจำนวนวันที่จำคุกเพียง 360 วัน แต่ถ้าถือว่าการลงโทษจำคุก 12 เดือน เป็นกำหนดโทษจำคุก 1 ปี แล้ว จะคิดจำนวนวันที่จำคุกได้ถึง 365 วันหรือ 366 วัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 8 เดือนรวม 2 กระทง เป็นให้จำคุก 16 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

สรุป

จำเลยทั้งสองออกเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยทั้งสองจึงออกเช็คพิพาทให้โจทก์ใหม่แทนฉบับเดิมโดยสั่งจ่ายเพิ่มขึ้นจากหนี้เดิมในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ถือว่ามูลหนี้ตามเช็คไม่ใช่หนี้กู้ยืมเงิน จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อออกเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดชำระหนี้เดิม โจทก์จึงมีสิทธิคิดค่าเสียหายจากการชำระหนี้ล่าช้าได้ และจำเลยทั้งสองยินยอมโดยออกเช็คพิพาทฉบับใหม่แก่โจทก์มูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงสมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ในกรณีที่กำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน เมื่อรวมถึง 12 เดือน ให้คิดเป็นจำนวนวัน 360 วัน มิใช่ถือเป็น 1 ปี เพราะจำนวนวันจำคุกจะคิดได้ถึง 365 หรือ 366 วัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลย.

Facebook Comments