Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ จำเลยไม่สู้เรื่องค่าเสียหายในคดีละเมิด ศาลกำหนดได้หรือไม่

จำเลยไม่สู้เรื่องค่าเสียหายในคดีละเมิด ศาลกำหนดได้หรือไม่

1410

จำเลยไม่สู้เรื่องค่าเสียหายในคดีละเมิด ศาลกำหนดได้หรือไม่

เรื่องค่าเสียหายโจทก์บรรยายกล่าวไว้ในคำฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนว่าจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ให้การต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลก็อาจกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายได้ การชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182, 183 ไม่ได้กำหนดว่าในคดีแต่ละเรื่องนั้นให้มีการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทได้เพียงครั้งเดียวจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมขึ้นมาในระหว่างการพิจารณาไม่ได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสาม ให้อำนาจศาล เมื่อศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ขึ้นในระหว่างการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าในการชี้สองสถานครั้งแรกกำหนดประเด็นไว้ไม่ครบถ้วน และกำหนดให้โจทก์จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดเพิ่ม ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการสืบพยานแต่อย่างใดจึงชอบแล้ว

การฟ้องขับไล่เป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของทรัพย์ปกป้องทรัพย์สินของตนไม่ให้จำเลยทั้งสามซึ่งไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ ส่วนการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และการนับอายุความนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายฝากแก่โจทก์มาโดยตลอด เมื่อโจทก์อ้างว่าครบกำหนดไถ่คืนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่คืน และโจทก์บอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินแล้วจำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไปเป็นการอยู่โดยละเมิด ฉะนั้นตราบใดที่จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไป การละเมิดก็ยังคงมีอยู่ อายุความย่อมยังไม่เริ่มนับจนกว่าจะหยุดการทำละเมิดคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

Facebook Comments