Home บทความ จุดคำนวนค่าเสียหายในคดีรับเหมาก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

จุดคำนวนค่าเสียหายในคดีรับเหมาก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

1221

จุดคำนวนค่าเสียหายในคดีรับเหมาก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องกล่าวว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างตึกหนึ่งหลังเพื่อใช้เป็นตึกเรียนชั้นประถม ภายในบริเวณโรงเรียนราชินี ตำบลพระบรมมหาราชวัง จังหวัดพระนคร รวมราคาค่าจ้างเหมาทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,497,000 บาท ดังปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาหมายเลข 1 ท้ายฟ้องนี้ ตามข้อ 10 แห่งสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวถึงในฟ้องข้อ 2 นั้นได้กำหนดผ่อนจ่ายเงินค่าจ้างเหมาทั้งหมดเป็น 8 ครั้ง ตามลำดับการก่อสร้าง กับจำนวนเงินอีกร้อยละสิบของราคารับเหมา ผู้จ้างเหมาจะยึดไว้เป็นประกันก่อน จะจ่ายให้เมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันส่งมอบงานเป็นต้นไป โจทก์ได้ทำการก่อสร้างตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว และได้รับผ่อนจ่ายเงินค่าจ้างเหมาตามลำดับครั้งต่าง ๆ ตลอดมา จนโจทก์ได้ทำการก่อสร้างเสร็จและได้ส่งมอบตึกที่ก่อสร้างตามสัญญานั้น ให้จำเลยรับมอบใช้เป็นที่เรียนของโรงเรียนราชินี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2494 แล้วโจทก์ได้ขอรับเงินค่าก่อสร้างครั้งที่ 8 ตามสัญญาเป็นเงิน 149,700 บาท จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ โดยอ้างว่า การก่อสร้างในข้อปลีกย่อยหลายประการ ไม่เป็นที่พอใจของจำเลย โจทก์ได้พยายามปฏิบัติตามเพื่อแก้ไขให้เป็นที่พอใจจนทุกประการ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จในที่สุดโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยขอรับเงินค่าก่อสร้างครั้งที่ 8 นี้ ดังปรากฏตามสำเนาเอกสารลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2494 หมายเลข 2 ท้ายฟ้องนี้ จำเลยได้ให้นายเอช.เฮอร์แมน นายช่างผู้ตรวจการของจำเลยตรวจงานก่อสร้างเพื่อการจ่ายเงินตามข้อกำหนดในสัญญาก่อสร้างดังกล่าวแล้ว นายเอช.เฮอร์แมน นายช่างผู้ตรวจงานของจำเลยเองตรวจแล้วรายงานว่า งานงวดสุดท้ายนี้สำเร็จแล้วและการเงินงวดนี้ควรจ่ายได้ เฉพาะข้อปลีกย่อยที่ยังไม่เป็นที่พอใจให้หักเงินไว้เป็นจำนวน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) เมื่อโจทก์ดำเนินงานจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงให้จ่ายเงินจำนวนนี้ดังปรากฏตามสำเนาหมายเลข 3 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2494 ท้ายฟ้องโจทก์ขอรับเงินค่าก่อสร้างตามรายงานของนายช่างผู้ตรวจการของจำเลยดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ไม่จ่ายให้ คงจ่ายให้เพียง 50,000 บาท และหักเอาไว้เป็นจำนวนถึง 99,700 บาท โจทก์ได้พยายามแก้ไขการก่อสร้างปลีกย่อยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นที่พอใจของจำเลย ก็ไม่เป็นที่พอใจของจำเลยได้ ตามข้อ 5 แห่งสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวถึงในฟ้องข้อ 2 เมื่อจำเลยเห็นว่าสิ่งใดที่โจทก์ทำไม่ถูก จะจ้างช่างอื่นมาทำแทนก็ได้ และจำเลยเคยแจ้งให้โจทก์แก้ไขการก่อสร้างปลีกย่อยต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2494 พ้นจากนั้นแล้วจำเลยจะจ้างช่างอื่นทำแทน และจะคืนเงินที่เหลือให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยจ้างช่างอื่นทำแทน ทั้งไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์จนบัดนี้ โจทก์ถือว่าจำเลยมีหน้าที่จ่ายเงินให้โจทก์ตามรายงานของนายช่างผู้ตรวจการของจำเลยเอง ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2494 เงินยังค้างจ่ายอยู่ 99,700 บาท เพื่อตัดสัญญาเรื่องการก่อสร้างแก้ไขสิ่งปลีกย่อยที่จำเลยอ้างว่ายังไม่พอใจ จำเลยจะหักเงินเอาไว้ได้ก็เพียงตามจำนวนไม่เกินสมควรแก่เหตุ คือ 10,000 บาทโจทก์จึงฟ้องเรียกเฉพาะเงินค้างจ่าย โดยให้หักไว้ 10,000 บาทแล้วคงฟ้องเรียกเฉพาะ 89,700 บาท จำเลยผิดนัด และอ้างเหตุใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ใช้เงินให้แก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายคิดเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2494 ถึงวันฟ้องคิดเพียง 9 เดือนครึ่ง เป็นเงิน5,325 บาท 89 สตางค์ ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ด้วยโจทก์ได้ทวงถามต่อมาอีกหลายครั้ง จำเลยก็ไม่จ่ายให้โจทก์ จึงขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 89,700 บาท ดอกเบี้ย 5,325 บาท 89 สตางค์ กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน 89,700 บาท ตั้งแต่ฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ผ่อนจ่ายเงินค่าจ้างเหมาแก่โจทก์รวม 7 ครั้ง แล้วจริง แต่เนื่องจากโจทก์ทำการก่อสร้างไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และแม้จนบัดนี้ก็ยังทำการก่อสร้างไม่ครบตามสัญญาจำเลยจึงไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างครั้งที่ 8 ให้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้ส่งมอบตึกที่ก่อสร้างให้จำเลยรับมอบแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2494 นั้นไม่จริงความจริงตามสัญญาข้อ 9 โจทก์ต้องส่งมอบตึกภายใน 240 วัน นับแต่วันที่จำเลยสั่งให้ลงมือทำงาน จำเลยได้สั่งให้โจทก์ลงมือทำงาน เมื่อวันที่เซ็นสัญญา คือวันที่ 10 พฤษภาคม 2493 และโจทก์ก็ได้เริ่มทำงานในวันนั้น ฉะนั้น โจทก์ควรมอบงานให้เสร็จสิ้นในวันที่ 5 มกราคม 2494 จำเลยได้เร่งรัดตลอดมาให้โจทก์ทำการก่อสร้างให้ทันเปิดเทอมในวันที่ 17พฤษภาคม 2494 แต่โจทก์ก็คงทำไม่เสร็จอยู่นั่นเองครั้นเมื่อโรงเรียนเปิดเทอมแล้ว สถานที่ของโรงเรียนแห่งอื่น ๆ มีการยัดเยียด จำเลยมีความจำเป็นต้องให้ตึกที่สร้างยังไม่เสร็จดีนี้เป็นที่เรียนจำเลยจึงได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จะต้องการใช้ตึกตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2494 จึงมิใช่เป็นการรับมอบตึกดังโจทก์อ้าง และต่อจากนั้นโจทก์ก็ยังได้ไปทำการก่อสร้างส่วนที่ค้างอยู่ต่อไป ที่จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินให้โจทก์ เพราะโจทก์ยังทำการก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยตามสัญญา ถ้าการก่อสร้างนี้เสร็จเรียบร้อยดังโจทก์อ้างจริงแล้ว โจทก์ก็คงจะขอรับเงินค่าก่อสร้างครั้งที่ 8 นี้ แต่วันที่ 1 สิงหาคม 2494 แล้ว แต่โจทก์อ้างว่าได้ขอรับเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2494 แม้แต่ในหนังสือที่ขอรับเงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ก็แสดงว่าโจทก์ยังก่อสร้างตึกไม่แล้วเสร็จตามสัญญารับเหมาก่อสร้างข้อ 10 การจ่ายเงินครั้งที่ 8 จะจ่ายได้ก็เมื่อทำการก่อสร้างเสร็จถูกต้องแล้ว แต่ในรายงานการตรวจงานของนายเอช.เฮอร์แมน ซึ่งโจทก์อ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ก็ปรากฏชัดแจ้งว่า การก่อสร้างยังไม่เสร็จเรียบร้อย เมื่อการก่อสร้างยังไม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยก็ไม่มีพันธกรณีที่จะต้องจ่ายเงินแต่อย่างใดให้แก่โจทก์ ส่วนที่นายเอช.เฮอร์แมน เสนอให้จ่ายเงินไปบ้าง โดยมีการหักเงินไว้ก็หาตรงตามสัญญาไม่ อย่างมากก็เป็นแต่การเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาของจำเลยเท่านั้น เพราะความเห็นที่เสนอนี้ ไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อความหรือเงื่อนไขในสัญญาแต่ประการใด ความจริงจำเลยมีความเห็นว่า ไม่ควรจ่ายให้โจทก์เลย เพราะค่าเสียหายจากการที่โจทก์ก่อสร้างไม่แล้วตามสัญญานั้นมากนัก แต่เพื่อผ่อนผันแก่โจทก์ โดยเห็นว่าโจทก์ได้ยอมรับผิดในความบกพร่องของการก่อสร้างและได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะรีบมาจัดการแก้ไขส่วนที่ยังสร้างไม่ครบโดยเร็ว จำเลยจึงได้จ่ายเงินครั้งที่ 8 นี้ ให้โจทก์ไปแล้วถึง 50,000 บาท แต่กลับปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อสร้างตึกส่วนที่ขาดอยู่ไปบ้าง ซึ่งสำเร็จเพียงส่วนน้อย ส่วนที่ค้างนั้นมีอยู่มากดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยต้องไปจ้างนายยุ่งซ้ง แซ่อึ้ง มาก่อสร้างต่อเป็นเงิน 294,000 บาท ดังสำเนาสัญญาซึ่งแนบมาท้ายคำให้การนี้และเสียเวลาในการก่อสร้างตึกนี้นานไปอีก ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2494จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งข้อบกพร่องของ การก่อสร้างรวม 21 รายการ ให้โจทก์ก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน2494 มิฉะนั้น จะจ้างช่างอื่นทำแทนจริง ดังปรากฏตามสำเนาหนังสือซึ่งจำเลยเสนอมาท้ายคำให้การนี้ (เอกสารหมาย 2) โจทก์ได้ยอมรับว่าจะรีบจัดการก่อสร้างตามที่จำเลยต่อว่าไปให้เรียบร้อยทุกประการดังปรากฏตามสำเนาหนังสือลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2494 ท้ายคำให้การ (เอกสารหมาย 3) และโจทก์ได้มาก่อสร้างบางส่วนแล้วได้เลิกทิ้งงานไปที่สุดจำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2495 ให้โจทก์มาจัดการทำส่วนที่ค้างให้แล้วเสร็จดังสำเนาท้ายคำให้การ (เอกสารหมาย 4) แต่โจทก์ก็มิได้มาจัดทำจำเลยจึงได้ประมูลจ้างช่างอื่นมาทำแทนและได้ทำสัญญากับนายยุ่งซ้ง แซ่อึ้ง รับเหมาทำการก่อสร้างส่วนที่ยังขาดและบกพร่องต่อไป ได้ทำสัญญาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2495สัญญานี้เฉพาะค่าจ้างเกินกว่าเงินที่จำเลยยังถืออยู่ตามสัญญากับโจทก์เป็นจำนวน 44,600 บาท เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ทำการก่อสร้างถูกต้องสมบูรณ์ตามสัญญา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะจ่ายเงินให้โจทก์เลย

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การก่อสร้างตึกรายพิพาทนี้โจทก์ได้ทำงานในงวดสุดท้ายสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ชอบที่จำเลยจะจ่ายเงินค่าจ้างเหมาให้โจทก์ ดังที่นายเอช. เฮอร์แมน นายช่างผู้ตรวจการของจำเลยได้รายงานเสนอไว้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ยังทำการก่อสร้างไม่เป็นที่พอใจของจำเลย เช่นในเรื่องหน้าต่าง เรื่องสีเรื่องท่อน้ำฝน รวมตลอดทั้งรายการอื่นนั้น ก็เป็นที่เห็นได้จากเหตุผลที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นว่า เป็นเรื่องปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งโจทก์ว่าได้ทำการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอพระทัยหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล นั้น ศาลได้พิจารณาความข้อนี้แล้วเห็นว่า เมื่อยังมีส่วนปลีกย่อย ซึ่งโจทก์จะต้องซ่อมแซมแก้ไขให้เป็นที่พอใจของจำเลยต่อไป ก็สมควรที่จำเลยจะหักเงินไว้เพียงจำนวน 10,000 บาท ตามที่นายเอช. เฮอร์แมนได้เสนอไว้ในรายงานการตรวจงานครั้งสุดท้ายดังกล่าวแล้วข้างต้นจำเลยหามีสิทธิที่จะหักเงินไว้เป็นจำนวนถึง 99,700 บาทไม่ พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 89,700 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงิน 89,700 บาท คิดตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2494 เป็นต้นไป จนกว่าจะใช้เงินเสร็จ พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 4,000 บาท ให้โจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยต้องจ้างช่างมาทำ ค่าจ้างเกินกว่าเงินที่จำเลยยึดถืออยู่พิพากษากลับว่า โจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับเงินค่าจ้างงวดที่ 8 ตามสัญญาดังฟ้อง ให้ยกฟ้อง

โจทก์จึงได้ฎีกาขึ้นมา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงฝ่ายโจทก์ และตรวจสำนวนแล้ว ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์เป็นผู้ก่อสร้างตึก 1 หลังเป็นเงิน 1,497,000 บาท ดังสัญญาลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2493 ในสัญญานี้มีข้อความจ่ายเงินเป็นงวด ๆ ตามลำดับของการก่อสร้างรวมเป็น 8 งวด จำเลยได้จ่ายเงินงวดที่ 7ให้โจทก์แล้ว ครั้นถึงงวดที่ 8 โจทก์ขอรับเงินจำนวน 149,700 บาท จำเลยได้ให้นายเอช.เฮอร์แมน นายช่างผู้ตรวจการของจำเลยไปตรวจงานก่อสร้าง นายช่างรายงานว่าส่วนใหญ่ทำเสร็จแล้ว แต่ยังมีส่วนปลีกย่อยยังไม่เป็นที่พอใจ ต้องให้โจทก์ทำการแก้ไข ส่วนเงินนั้นควรจ่ายได้ แต่ให้หักไว้ 10,000 บาท แต่จำเลยคงจ่ายให้โจทก์เพียง 50,000 บาท หักไว้ถึง 99,700 บาทโดยอ้างว่า โจทก์ทำการไม่เสร็จเรียบร้อย จำเลยต้องจ้างช่างอื่นมาแก้ไขเสียเงินไปมากมาย

ได้ความดังนี้ คดีจึงมีข้อวินิจฉัยว่า การก่อสร้างของโจทก์ถูกต้องตามสัญญาเพียงใดหรือไม่ เมื่อได้พิจารณาคำพยานและเอกสารต่าง ๆ แล้ว เห็นว่า ในประเด็นข้อนี้ คู่ความสืบเถียงกัน คือ ฝ่ายโจทก์ว่าสิ่งที่ทำไม่เรียบร้อย โจทก์ก็ได้จัดการแก้ไขให้ตามคำสั่งจำเลยแล้วฝ่ายจำเลยก็ว่าสิ่งที่โจทก์ทำไม่เรียบร้อย จำเลยต้องจ้างช่างมาแก้ไขหลายสิ่งหลายอย่างเสียเงินไปกว่าสองแสนบาทแต่เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยจ้างนายยุ่งซ้ง ช่างคนใหม่มาแก้ไขนี้ มีบางสิ่ง บางอย่าง เช่น บานประตู หน้าต่างที่โจทก์ทำไว้นั้น ได้เปลี่ยนใหม่หมดทั้ง ๆ ที่นายยุ่งซ้งว่า ถ้าไม่เปลี่ยนใหม่ก็ทำได้ แต่ไม่ดีเหมือนเอาออกหมดแล้วทำใหม่ การทำเช่นนี้คิดเป็นราคาตั้งแสนเศษ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการเกินควร เมื่อพิจารณาความข้อนี้ประกอบกับรายงานนายเอช. เฮอร์แมน นายช่างของจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจการก่อสร้างรายนี้ ซึ่งรายงานว่า ส่วนใหญ่ทำเสร็จยังมีแต่ส่วนปลีกย่อย ยังไม่เป็นที่พอใจต้องให้โจทก์แก้ไข ควรจ่ายเงินแก่โจทก์ แต่ให้หักไว้ 10,000 บาทแล้ว ทำให้เห็นว่าการก่อสร้างรายนี้ แม้จะไม่เสร็จเรียบร้อยพอใจจำเลย ก็ได้ทำไปเป็นส่วนใหญ่ คงมีที่บกพร่องอยู่เป็นส่วนน้อยจะหักเงินค่าก่อสร้างไว้ตั้ง 90,000 บาทเศษ ย่อมเป็นการไม่ชอบและไม่เป็นธรรม จึงควรกะค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควร

ส่วนที่ว่า โจทก์ทำการไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญาก็ได้ความว่า จำเลยยอมผ่อนผันให้โจทก์ และระหว่างนั้นก็มีการจลาจลเกิดขึ้น ทำให้ต้องหยุดงานและซ่อมแซมด้วย

เหตุนี้ จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนที่เรียกร้อง คือ 44,850 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จ บรรดาค่าธรรมเนียมที่ทั้งสองฝ่ายเสียมาแล้วเท่าใด ให้คิดรวมกันแล้วแบ่งกันเสียคนละกึ่งค่าทนายเป็นพับ

สรุป

ผู้รับจ้างสร้างตึกทำการบกพร่องเป็นส่วนน้อย ผู้ว่าจ้างได้จ้างช่างอื่นแก้ไขตามสัญญา แต่ทำเกินกว่าที่สมควร จึงเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป ส่วนที่ต้องเสียเวลาเกินกำหนดในสัญญาไป ผู้ว่าจ้างได้ผ่อนผันให้ และเกิดจลาจลต้องหยุดงานและซ่อมแซม ผู้ว่าจ้างจะหักสินจ้างไว้มากเกินสมควรไม่ได้ ศาลกะค่าเสียหายให้ตามสมควรเพื่อหักกับสินจ้างที่ควรต้องใช้ให้ผู้รับจ้าง

Facebook Comments