Home บทความ จุดที่ศาลฎีกา วินิจฉัยการเลิกสัญญาและการคิดค่าเสียหายในคดีรับเหมาก่อสร้าง

จุดที่ศาลฎีกา วินิจฉัยการเลิกสัญญาและการคิดค่าเสียหายในคดีรับเหมาก่อสร้าง

841

จุดที่ศาลฎีกา วินิจฉัยการเลิกสัญญาและการคิดค่าเสียหายในคดีรับเหมาก่อสร้าง

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างเหมาโจทก์เจาะบ่อน้ำบาดาล ฯลฯจำเลยที่ 1 จะต้องทำการเจาะบ่อน้ำจนสามารถสูบน้ำบริสุทธิ์นั้นมาบริโภคได้ จำเลยที่ 1 ยอมรับประกัน ท่อกรุ ท่อกรองน้ำ และคุณภาพของน้ำ ตามที่กรมวิทยาศาสตร์รับรองให้ใช้บริโภคได้เป็นเวลา 4 ปี จำเลยที่ 2 ยอมรับประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เจาะบ่อน้ำบาดาล ฯลฯ กรมวิทยาศาสตร์ตรวจวิเคราะห์น้ำแล้ว เห็นว่าใช้บริโภคได้จำเลยที่ 1 รับเงินไป 2 งวด ต่อมาเดือนสิงหาคม 2506 น้ำบาดาลใช้บริโภคไม่ได้ จำเลยที่ 1 แจ้งต่อโจทก์ว่าไม่มีทางแก้ไข เพราะเป็นธรรมชาติของน้ำใต้ดิน โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินและชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยทั้งสองก็ไม่ชำระจึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 136,000 บาทแก่โจทก์ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่คืนหรือคืนให้ไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน73,000 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี สำหรับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 136,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ในต้นเงิน 73,000 บาทแก่โจทก์ ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะใช้เงินเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การว่า ตามข้อสัญญามิได้ตกลงกันว่า เมื่อเกิดชำรุดให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกค่าจ้างคืนได้ ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยรับประกันปริมาณน้ำและคุณภาพของน้ำตามเงื่อนไขว่าน้ำนั้นต้องให้กรมวิทยาศาสตร์รับรองว่าเป็นน้ำที่ใช้บริโภคได้เป็นเวลา 4 ปีนั้น เป็นเงื่อนไขที่พ้นวิสัยที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะรับประกันได้ จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดเมื่อจำเลยที่ 1ไม่สามารถชำระเงินให้โจทก์ จำเลยที่ 1 มีทางชำระหนี้ ชอบที่โจทก์จะบังคับชำระเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงิน 85,000 บาท ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่คืนหรือคืนไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2ชำระแทน 73,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 85,000 บาท จำเลยที่ 2 ในต้นเงิน73,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าให้รับประกันปริมาณและคุณภาพของน้ำให้ใช้บริโภคได้มีกำหนดเวลา 4 ปี เป็นเงื่อนไขที่พ้นวิสัยขัดต่อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยนั้น จะต้องเป็นข้อสัญญาที่ผู้ให้สัญญาไม่มีทางจะปฏิบัติได้เลย แต่ในการเจาะบ่อน้ำบาดาลนี้ เงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในข้อสัญญาที่ให้รับประกันปริมาณและคุณภาพของน้ำให้ใช้บริโภคได้มีกำหนดเวลา 4 ปีนั้น เป็นเงื่อนไขที่สามารถปฏิบัติได้จึงหาเป็นการพ้นวิสัยไม่ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยจะทำได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 เองก็เชื่อว่าสามารถทำได้ จึงได้ทำสัญญารับรองไว้เช่นนั้น ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเจาะบ่อน้ำบาดาลให้โจทก์ใช้ได้ถึง 4 ปีตามสัญญา จึงไม่ใช่กรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์จะบอกเลิกสัญญาจ้างและเรียกเงินค่าจ้างคืนไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาจ้างเหมา (เอกสาร จ.2)ข้อ 13 ถือว่ารายการแนบท้ายหมาย จ.5, จ.6 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย และในรายการแนบท้ายดังกล่าวข้อ 6(14) (15) ผู้รับจ้างคือจำเลยที่ 1 ก็ได้สัญญาให้โจทก์ได้ใช้น้ำในปริมาณตามที่กำหนดและรับรองให้โจทก์ได้ใช้น้ำบริโภคได้เป็นกำหนดเวลา 4 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการของโจทก์รับมอบงานงวดสุดท้าย และในรายการแนบท้ายข้อ 6(16) ก็ได้ระบุว่า ถ้าหากการดำเนินการของผู้รับจ้างได้ผลเป็นที่พอใจของผู้ว่าจ้างตามข้อ (14) และ (15) ผู้ว่าจ้างจะถือว่าผู้รับจ้างได้กระทำการให้ผู้ว่าจ้างถูกต้องเรียบร้อยเสร็จบริบูรณ์แล้ว ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่สามารถจะให้โจทก์ได้ใช้น้ำจนครบกำหนด 4 ปีโจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 5 ได้ เพราะในสัญญาข้อนี้ได้ระบุไว้ว่า “ฯลฯ หรือผู้รับจ้างทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดีผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญานี้ได้ ฯลฯ” ซึ่งความข้อนี้หาได้จำกัดเฉพาะสัญญาข้อ 5 ก.ข.ค. ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมานั้นไม่ เมื่อโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ และโจทก์ก็ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามเอกสาร จ.28 แล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 นั้นการให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินค่าจ้างเหมาที่ได้รับไปแล้วแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ก็จะต้องคืนสิ่งของต่าง ๆที่จำเลยที่ 1 นำมาติดตั้งให้โจทก์แก่จำเลยที่ 1 ด้วย แต่ปรากฎว่าสิ่งของต่าง ๆ ที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ได้นำไปใช้แล้วเป็นเวลาถึง 18 เดือน ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ได้ลงทุนลงแรงขุดเจาะน้ำบาดาลจนให้โจทก์มีน้ำใช้บริโภคได้ เมื่อเป็นดังนี้ การคืนเงินของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ จึงต้องหักจำนวนเงินค่าเสื่อมราคาสิ่งของเพื่อชดเชยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม กับค่าการงานในการติดตั้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินเพียง 85,000 บาทแก่โจทก์ก็เป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว พิพากษายืน.

สรุป

ข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยนั้น. จะต้องเป็นข้อสัญญาที่ผู้ให้สัญญาไม่มีทางปฏิบัติได้เลย.

จำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาโจทก์เจาะบ่อน้ำบาดาล เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อสัญญาที่ให้รับประกันปริมาณและคุณภาพน้ำให้ใช้บริโภคได้มีกำหนดเวลา 4 ปีนั้น. เป็นเงื่อนไขที่สามารถปฏิบัติได้. หาเป็นการพ้นวิสัยไม่. การที่จำเลยไม่สามารถเจาะบ่อน้ำบาดาลให้โจทก์ใช้ได้ถึง 4 ปีตามสัญญา. จึงไม่ใช่กรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย.

ตามสัญญาจ้างเหมา ข้อ 13 ถือว่ารายการแนบท้ายหมายจ.5, จ.6 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย และในรายการแนบท้ายดังกล่าว ข้อ 6(14)(15). ผู้รับจ้างคือจำเลย ก็ได้สัญญาให้โจทก์ได้ใช้น้ำในประมาณตามที่กำหนด. และรับรองให้โจทก์ได้ใช้น้ำบริโภคได้เป็นกำหนดเวลา 4 ปีนับแต่วันที่คณะกรรมการของโจทก์รับมอบงานงวดสุดท้าย.และในรายการแนบท้าย ข้อ 6(16) ก็ได้ระบุว่า ถ้าหากการดำเนินการของผู้รับจ้างได้ผลเป็นที่พอใจของผู้ว่าจ้างตามข้อ (14)และ (15). ผู้ว่าจ้างจะถือว่าผู้รับจ้างได้กระทำการให้ผู้ว่าจ้างถูกต้องเรียบร้อยเสร็จบริบูรณ์แล้ว. ฉะนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา.ไม่สามารถจะให้โจทก์ได้ใช้น้ำจนครบกำหนด 4 ปี. โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 5 ได้. เพราะในสัญญาข้อนี้ได้ระบุไว้ว่า ‘ฯลฯหรือผู้รับจ้างทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดี ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญานี้ได้ ฯลฯ’. ซึ่งข้อความนี้หาได้จำกัดเฉพาะสัญญาข้อ 5 ก. ข. ค. ไม่.

โจทก์จ้างจำเลยขุดบ่อน้ำบาดาล จำเลยรับประกันปริมาณและคุณภาพน้ำให้ใช้บริโภคได้มีกำหนด 4 ปี. เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391. การให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจะต้องคืนเงินค่าจ้างเหมาที่ได้รับไปแล้วแก่โจทก์. ส่วนโจทก์ก็จะต้องคืนสิ่งของต่างๆ ที่จำเลยนำมาติดตั้งให้โจทก์แก่จำเลย.แต่ได้ปรากฏว่าสิ่งของต่างๆ ที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยนั้น โจทก์ได้นำไปใช้แล้วเป็นเวลาถึง 18 เดือน. ทั้งจำเลยก็ได้ลงทุนลงแรงขุดเจาะน้ำบาดาลจนให้โจทก์มีน้ำใช้บริโภคได้. การคืนเงินของจำเลยแก่โจทก์.จึงต้องหักจำนวนเงินค่าเสื่อมราคาสิ่งของเพื่อชดเชยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม กับค่าการงานในการติดตั้งให้จำเลย.

Facebook Comments