Home บทความคดีแพ่ง ผลจากการหลอกลวงในคดีฉ้อโกง เป็นเหตุให้ฟ้องคดีแพ่งได้หรือไม่

ผลจากการหลอกลวงในคดีฉ้อโกง เป็นเหตุให้ฟ้องคดีแพ่งได้หรือไม่

1713

ผลจากการหลอกลวงในคดีฉ้อโกง เป็นเหตุให้ฟ้องคดีแพ่งได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1357/2533

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2528 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 300,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองเสนอหลักประกันการกู้ยืมเงินครั้งนี้เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 4942 ตำบลสามควายเผือก อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วยวิธีโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โดยตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองจะต้องไถ่ถอนคืนภายในกำหนด 2 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2529 จำเลยทั้งสองได้สมคบกันหลอกลวงโจทก์โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งด้วยการร่วมกันปั้นแต่ข้อเท็จจริงเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 1 นำต้นเงินและดอกเบี้ยที่กู้ยืมไปจากโจทก์มาชำระให้แก่โจทก์แล้ว ขอให้โจทก์ทำการโอนที่ดินแปลงที่เป็นหลักประกันคืนเมื่อโจทก์ได้รับเงินคืนแล้วและโอนที่ดินคืนจำเลยไป ปรากฏว่าแทนที่จำเลยที่ 1 จะทำการโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 แต่กลับใส่ชื่อจำเลยที่ 1โดยอ้างต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมให้กระทำเช่นนั้น โจทก์หลงเชื่อจึงยอมโอนชื่อคืนให้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ร่วมสมคบรู้เห็นมาโดยตลอด จนเมื่อวันที่3 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 2 โดยเจตนาทุจริตได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครปฐมเป็นคดีแพ่ง ข้อหาผิดสัญญาเรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์ 700,000 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เหตุเกิดที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดไต่สวน แล้ววินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวว่าความจริงเป็นอย่างไร ไม่เป็นฟ้องที่ระบุความพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ทั้งตามคำฟ้องก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดนครปฐม ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4), 28 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341ความเสียหายที่ได้รับจะต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงนั้นโดยตรง การที่จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหาก มิใช่การกระทำในคดีนี้ ถึงแม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกฟ้อง ความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ความเสียหายโดยตรงในคดีนี้ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์ด้วยวิธีโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นหลักประกัน โดยตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองจะต้องไถ่ถอนคืนภายในกำหนด 2 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ให้นำเงินมาชำระหนี้และยินยอมให้โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อจำเลยที่ 1 โจทก์หลงเชื่อจึงโอนที่ดินใส่ชื่อจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเป็นคดีแพ่งข้อหาผิดสัญญาเรียกค่าเสียหาย ดังนี้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นคดีนี้ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจะต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงนั้นโดยตรงแม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกจำเลยที่ 2 ฟ้อง ก็เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหาก มิใช่การกระทำในคดีนี้ ความเสียหายดังกล่าวมิใช่ความเสียหายโดยตรงในคดีนี้ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสอง


Facebook Comments