Home บทความคดีแพ่ง ออกเช็คโดยไม่ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน มีความผิดทางอาญา

ออกเช็คโดยไม่ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน มีความผิดทางอาญา

1923

ออกเช็คโดยไม่ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน มีความผิดทางอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2523

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้ผู้เสียหายเป็นการชำระหนี้ผู้เสียหายนำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า เช็คเขียนสั่งจ่ายไม่ถูกต้อง ทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คดังกล่าวสั่งจ่ายเงินสดแต่ขีดคำว่า หรือผู้ถือออก โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

 

จำเลยให้การปฏิเสธ

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 4 เดือน

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

จำเลยฎีกาว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิด

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เช็คฉบับพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้ผู้เสียหายเป็นการชำระหนี้ ซึ่งจำเลยต่อสู้ว่าไม่สมบูรณ์นั้น เป็นเพราะจำเลยเป็นผู้ขีดคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ซึ่งเป็นการกระทำของจำเลยเอง ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทราบหรือได้ยินยอมด้วยกับการขีดคำดังกล่าว การกระทำของจำเลยเห็นได้ชัดว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) แล้ว จำเลยจึงต้องมีความผิดตามฟ้อง

 

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหาย โดยระบุว่าจ่ายเงินสด แต่จำเลยได้ขีดคำว่า ‘หรือผู้ถือ’ออก ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทราบหรือได้ยินยอมด้วยกับการขีดคำดังกล่าว การกระทำของจำเลยเห็นได้ชัดว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้ผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3(1) แล้ว

Facebook Comments