Home บทความ ศาลฎีกาวางหลักเรื่องการผิดนัด ในกรณีไม่มีกำหนดระยะเวลาไว้อย่างไร

ศาลฎีกาวางหลักเรื่องการผิดนัด ในกรณีไม่มีกำหนดระยะเวลาไว้อย่างไร

1243

ศาลฎีกาวางหลักเรื่องการผิดนัด ในกรณีไม่มีกำหนดระยะเวลาไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2552

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าปุ๋ยหลายชนิดจากโจทก์ รวมเป็นเงินค่าสินค้าทั้งสิ้น 1,104,357 บาท มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 และนายต้อยติ่ง เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ส่งมอบสินค้าปุ๋ยแก่จำเลยที่ 1 รับไว้แล้ว รวมเป็นเงินค่าสินค้าทั้งสิ้น 671,632 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วผิดนัด ยังคงค้างชำระ 642,885.44 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 และ 12.50 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 203,348.46 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 846,233.90 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งยี่สิบเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 19 และจำเลยที่ 20 ในฐานะทายาทของนายต้อยติ่ง ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 846,233.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี ของต้นเงิน 642,885.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งยี่สิบให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ประชุมคณะกรรมการสหกรณ์จำเลยที่ 1 เพื่อสั่งซื้อปุ๋ยจากโจทก์นำไปจำหน่ายแก่สมาชิกโดยมอบอำนาจให้นายเฟื่องฟ้า ซึ่งเป็นเหรัญญิกทำสัญญาซื้อขาย ส่วนการรับมอบปุ๋ยที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้นายยมหิน ประธานกรรมการ หรือนายทอง รองประธานกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบปุ๋ยและลงนามในเอกสารรับมอบปุ๋ย ตามสัญญาซื้อขายปุ๋ยระบุว่าโจทก์จะนำปุ๋ยไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ณ ที่ทำการสหกรณ์ แต่โจทก์ไม่เคยส่งมอบปุ๋ยตามสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับมอบปุ๋ย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 18 รับว่า เป็นผู้ค้ำประกันตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่ส่งมอบปุ๋ยแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 10 จำเลยที่ 14 ถึงที่ 17 และจำเลยที่ 19 ไม่เคยลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันดังฟ้อง ลายมือชื่อที่ปรากฏในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 20 รับว่า เป็นทายาทของนายต้อยติ่ง แต่นายต้อยติ่ง ไม่เคยลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันดังฟ้อง ลายมือชื่อที่ปรากฏในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม และนายต้อยติ่งไม่มีมรดกตกทอด จำเลยที่ 20 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะมิได้ฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่อ้างว่าส่งมอบปุ๋ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันชำระเงินจำนวน 642,885.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 กันยายน 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ทั้งนี้จำเลยที่ 20 ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายต้อยติ่งที่ตกทอดได้แก่ตน

โจทก์และจำเลยทั้งยี่สิบอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยทั้งยี่สิบฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยทั้งยี่สิบว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบปุ๋ยตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.15 หรือไม่ จำเลยทั้งยี่สิบฎีกาสรุปใจความว่า จากสำเนารายงานการประชุม เอกสารหมาย จ.11 ฉบับที่ 3 ที่จำเลยที่ 1 ได้แนบไปพร้อมกับสัญญาซื้อขายปุ๋ยระบุไว้ชัดเจนว่า ในการรับมอบปุ๋ยปลายทางจากโจทก์ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้นายยมหิน ตำแหน่งประธานกรรมการหรือนายทอง (จำเลยที่ 3) ตำแหน่งรองประธานกรรมการคนใดคนหนึ่งป็นผู้รับมอบปุ๋ยและลงนามในเอกสารรับมอบปุ๋ยแทนคณะกรรมการ และมอบอำนาจให้นายเฟื่องฟ้า เหรัญญิก เป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อปุ๋ย โจทก์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า นายเฟื่องฟ้าไม่มีอำนาจหน้าที่ในการรับมอบปุ๋ย ดังนั้น เมื่อโจทก์ให้นายเฟื่องฟ้ารับมอบปุ๋ยและลงนามรับมอบปุ๋ยตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.15 โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ การกระทำของนายเฟื่องฟ้าย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 เห็นว่า สำเนารายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์อ้างส่งนั้น นอกจากฉบับที่ 3 ที่จำเลยที่ 1 คัดสำเนาแนบไปพร้อมกับสัญญาซื้อขายปุ๋ย เอกสารหมาย จ.6 แล้ว ยังมีสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ฉบับจริงอีก 2 ฉบับคือฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 10/2540 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2540 ครั้งเดียวกันกับฉบับที่ 3 รวมอยู่ด้วย แต่ปรากฏว่าสำเนารายงานการประชุมฉบับที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว ข้อความในตอนท้ายของวาระที่ 4 กลับระบุให้นายยมหินหรือนายทอง (จำเลยที่ 3) หรือนายเฟื่องฟ้า คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบปุ๋ยและลงนามในเอกสารรับมอบปุ๋ยแทนคณะกรรมการ ซึ่งความในข้อนี้จำเลยที่ 3 ที่มาเบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ 1 และของตนเองก็ยอมรับว่าที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้ตนเองหรือนายยมหินหรือนายเฟื่องฟ้าเป็นผู้มีหน้าที่รับมอบปุ๋ยจากโจทก์ ตามี่ระบุไว้ในสำเนารายงานการประชุม เอกสารหมาย จ.4 ฉบับที่ 2 ที่ขีดเส้นใต้ด้วยหมึกสีแดงไว้จริง ทั้งนายกล้วยไม้ พนักงานตำแหน่งนักการตลาดของโจทก์จังหวัดนครพนม ก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า วิธีปฏิบัติทั่วไปของโจทก์ หากปรากฏว่ารายงานการประชุมฉบับจริงของสหกรณ์กับฉบับที่กรอกในแบบพิมพ์ส่งให้โจทก์พร้อมสัญญาไม่ตรงกัน โจทก์จะถือฉบับตามรายงานประชุมฉบับจริงของสหกรณ์เป็นหลัก ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า นายเฟื่องฟ้าก็เป็นผู้มีหน้าที่รับมอบปุ๋ยจากโจทก์และลงนามในเอกสารรับมอบปุ๋ยแทนจำเลยที่ 1 ได้ด้วยคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกายังเห็นว่า แม้หากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 มีมติให้นายยมหินหรือจำเลยที่ 3 คนใดคนหนึ่งมีหน้าที่ในการรับมอบปุ๋ยจากโจทก์ดังรายงานการประชุม เอกสารหมาย จ.4 ฉบับที่ 3 ที่แนบมาพร้อมกับสัญญาซื้อขายปุ๋ย มติดังกล่าวก็น่าจะเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของจำเลยที่ 1 เองมิใช่ข้อตกลงที่โจทก์จะต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดเสมอไปเหมือนเช่นข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา เพราะในสัญญาข้อ 3 ก็ระบุเพียงว่า ผู้ขายจะนำปุ๋ยไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ณ ที่ทำการสหกรณ์จำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยเฉพาะฝ่ายจำเลยที่ 1 เอง ก็มิได้ถือปฏิบัติเคร่งครัดเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 เองที่ว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ทราบว่าโจทก์ได้ส่งปุ๋ยโดยมีนายเฟื่องฟ้าเป็นผู้รับมอบ ตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.15 จำเลยที่ 3 ก็มิได้ดำเนินการอะไร แต่กลับกำชับให้นายเฟื่องฟ้าเร่งรัดตามปุ๋ยจากโจทก์อีก ดังนั้นเมื่อโจทก์มีนายใบเตย ผู้รับจ้างขนปุ๋ยของโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า ได้รับปุ๋ยจากโกดังของโจทก์ไปส่งที่สหกรณ์ จำเลยที่ 1 ทั้ง 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีนายเฟื่องฟ้าเป็นผู้รับมอบตามใบกำกับสินค้า เอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.15 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ยังได้ชำระค่าปุ๋ยบางส่วนให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงินถึง 170,000 บาท อันเป็นการยอมรับชัดแจ้งว่า ได้รับปุ๋ยจากโจทก์แล้วเช่นนี้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบปุ๋ย ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.15 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระราคาค่าปุ๋ยให้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งยี่สิบในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยทั้งยี่สิบมีว่า จำเลยที่ 10 ที่ 14 ถึงที่ 17 ที่ 19 และนายต้อยติ่ง เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 หรือไม่ ปัญหานี้ โจทก์มีสัญญาซื้อขายปุ๋ยและค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 และนายต้อยติ่งลงท้ายสัญญาในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันมาแสดงเป็นหลักฐาน โดยมีนายเสลา ซึ่งขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์จำเลยที่ 1 มาเบิกความสนับสนุนว่า นายเฟื่องฟ้าได้ถือสัญญาซื้อขายปุ๋ยและค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีการพิมพ์ข้อความและลงนามผู้ซื้อ ผู้ค้ำประกันไว้เรียบร้อยแล้วมาให้ตนลงชื่อเป็นพยานในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการ เห็นว่า สหกรณ์ของจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรทุกคนในชุมชน เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ย่อมจะได้รับประโยชน์จากสหกรณ์นั้น และในการซื้อปุ๋ยของสหกรณ์ก็เพื่อนำมาขายให้แก่สมาชิกผู้ต้องการซื้อปุ๋ยในราคาถูก ซึ่งสหกรณ์ย่อมจะให้สมาชิกผู้ต้องการซื้อปุ๋ยนั้นเองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นผู้ค้ำประกันในการทำสัญญาซื้อปุ๋ย จึงเชื่อได้ว่าเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกทุกคนสมัครใจที่จะลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์เพราะเห็นว่าตนจะได้รับประโยชน์จากสหกรณ์นั้น ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องมีการปลอมลายมือชื่อของจำเลยและนายต้อยติ่งเพียง 7 คน จากจำนวน 20 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้นเองเพื่อให้เป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาซื้อปุ๋ยกับโจทก์ จำเลยที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 19 ก็คงนำสืบเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของลายมือชื่อตนในเอกสารหมาย จ.6 กับลายมือชื่อตนในเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.8 เท่านั้น โดยไม่ได้มีการส่งลายมือชื่อไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์แต่อย่างใด โดยเฉพาะจำเลยที่ 15 และที่ 20 ก็ไม่ได้นำสืบพยานเพื่อหักล้างว่า ลายมือชื่อของจำเลยที่ 15 และนายต้อยติ่ง เป็นลายมือชื่อปลอมดังที่ให้การต่อสู้ไว้ ประกอบกับเมื่อได้พิจารณาลายมือชื่อของจำเลยที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 19 ในเอกสารหมาย จ.6 กับลายมือชื่อของจำเลยดังกล่าวในเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.8 แล้วก็เห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน แม้จะมีรายของนายใหญ่ (จำเลยที่ 14) และนายดอกบัว (จำเลยที่ 16) ที่เปรียบเทียบแล้วจะเห็นความแตกต่างด้วยตาเปล่าได้ชัด แต่ก็อาจเป็นเพราะการลงลายมือชื่อที่ต่างเวลาและต่างสถานการณ์กับซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ย่อมจะเกิดความแตกต่างขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาประกอบกันแล้วจึงเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานของฝ่ายจำเลย ฟังได้ว่า จำเลยที่ 10 ที่ 14 ถึงที่ 17 ที่ 19 และนายต้อยติ่งลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งยี่สิบในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งยี่สิบมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 6 (1) ถึง (8) แม้โจทก์จะมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อและจัดให้มีการซื้อผลิตผลเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนของเกษตรกร รวมถึงเครื่องอุปโภคและบริโภคอันจำเป็นเพื่อจำหน่ายด้วยก็ตาม แต่ก็กำหนดให้จำหน่ายในราคาอันสมควร จึงมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ และแม้สัญญาซื้อขายปุ๋ยตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 วรรค 2 จะระบุว่า ส่วนราคาที่เหลือผู้ซื้อจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่………….โดยผู้ซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดราคาจำหน่ายปุ๋ย ลงวันที่ 2 เมษายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.26 ในทำนองต้องชำระราคาปุ๋ยสูงขึ้นในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระราคาล่าช้า ก็หาได้แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์มุ่งแสวงหากำไรอันจะถือว่าเป็นการประกอบการค้าดังที่จำเลยทั้งยี่สิบยกขึ้นอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์มิได้มีอายุความ 2 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชำระราคาปุ๋ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.16 ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2543 ยังไม่พ้น 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยปัญหานี้มาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งยี่สิบในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 9 และร้อยละ 12.5 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด ปัญหานี้ตามสัญญาซื้อขายปุ๋ย เอกสารหมาย จ.6 ไม่ได้กำหนดเวลาชำระราคาปุ๋ยไว้ แต่สัญญาข้อ 2 กำหนดว่าผู้ซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดราคาจำหน่ายปุ๋ย ลงวันที่ 2 เมษายน 2540 ซึ่งประกาศของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.26 ดังกล่าว ได้กำหนดราคาจำหน่ายปุ๋ยและกำหนดหลักเกณฑ์การชำระค่าปุ๋ยไว้ว่า ชำระภายในระยะเวลา 6 เดือน ถือว่าชำระด้วยเงินสด ชำระภายในระยะเวลา 9 เดือน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี ของราคาเงินสดในส่วนที่เกิน 6 เดือน ชำระเกินกว่า 9 เดือน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 12.5 ต่อปี ของราคาเงินสดในส่วนที่เกิน 9 เดือน เห็นว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องการกู้ยืเงินซึ่งเป็นปกติธรรมดาที่จะมีการคิดดอกเบี้ยแก่กัน แต่เป็นเรื่องการซื้อขายสินค้าซึ่งโดยปกติจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย จะมีแต่การเรียกค่าเสียหายหากมีกรณีผิดสัญญาเกิดขึ้น ประกาศของโจทก์เรื่องราคาจำหน่ายปุ๋ยตามเอกสารหมาย จ.26 ดังกล่าวข้างต้นที่กำหนดหลักเกณฑ์การชำระค่าปุ๋ยไว้ให้มีการเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในกรณีที่ชำระค่าปุ๋ยล่าช้า จึงย่อมจะมีความหมายทำนองกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เกิน 6 เดือน หรือ 9 เดือน ในอัตราลดหลั่นกันไป จึงถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งเบี้ยปรับนี้หากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินตามมาตรา 383 ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วก็เห็นด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่ว่า เบี้ยปรับดังกล่าวสูงเกินส่วนและกำหนดเบี้ยปรับลดลงเป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยดังกล่าวมีลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามสัญญานั้นฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใดนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาซื้อขายปุ๋ยตามเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต่อเมื่อโจทก์ได้ทวงถามแล้ว ข้อเท็จจริงคงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าปุ๋ย ตามเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.25 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้วหรือไม่ เมื่อใด จึงไม่อาจเริ่มนับวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งยี่สิบชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ว่า พอจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงได้ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ค่าปุ๋ยแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 12 เดือน และจำเลยทุกคนได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์แล้วนั้นล้วนแต่ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 6 แม้โจทก์จะมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อและจัดให้มีการซื้อผลิตผลเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนของเกษตรกร รวมถึงเครื่องอุปโภคและบริโภคอันจำเป็นเพื่อจำหน่ายด้วย แต่ก็ต้องจำหน่ายในราคาอันสมควร และแม้สัญญาซื้อขายปุ๋ยจะระบุว่า ราคาที่เหลือผู้ซื้อจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่กำหนดโดยผู้ซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดราคาจำหน่ายปุ๋ย ก็มิได้แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์มุ่งแสวงหากำไรอันจะถือว่าเป็นการประกอบการค้า โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ประกาศของโจทก์เรื่องราคาจำหน่ายปุ๋ยที่กำหนดหลักเกณฑ์การชำระค่าปุ๋ยไว้โดยให้มีการเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในกรณีที่ชำระค่าปุ๋ยล่าช้า เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เกิน 6 เดือน หรือ 9 เดือน ในอัตราลดหลั่นกันไป ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

สัญญาซื้อขายปุ๋ยไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต่อเมื่อโจทก์ได้ทวงถามแล้ว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าปุ๋ย โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้วหรือไม่ จึงไม่อาจเริ่มนับวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยทั้งยี่สิบชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Facebook Comments