Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ เพราะท่อยางเบรคอ่อน อ้างไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่

เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ เพราะท่อยางเบรคอ่อน อ้างไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่

1158

เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ เพราะท่อยางเบรคอ่อน อ้างไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1337/2530

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291,300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 43, 78, 148, 157,160

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา291, 300 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฏหมายหลายบท ลงโทษบทหนัก จำคุก 4 ปีและมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 43, 78,148, 157, 160 จำคุก 2 เดือน รวม จำคุก 4 ปี 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยมีหน้าที่ขับรถประจำรถบรรทุกเทท้ายคันที่เกิดเหตุ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์2525 เวลาประมาณ 16.30 นาฬิกา จำเลยขับรถคันดังกล่าว มีนายชมนาด ลือยศ และคนอื่นอีกหลายคนนั่งมาด้วย เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางโค้ง รถได้พลิกคว่ำเป็นเหตุให้นายชมนาดถึงแก่ความตายและเด็กชายชบาได้รับอันตรายสาหัส ปัญหามีว่าจำเลยได้ขับรถโดยประมาทหรือไม่ พยานโยทก์ที่รู้เห็นเหตุการณ์มีนายกาหลง ปรังการ ซึ่งนั่งมาในรถด้วยเบิกความว่า เมื่อจำเลยขับรถมาถึงหน้าโรงเรียนศิลาแลง รถได้พลิกคว่ำทางด้านซ้ายมือ ส่วนจำเลยนำสืบว่ามีรถจักรยานยนต์แล่นสวนทางล้ำเข้ามาในทางรถจำเลย จำเลยจึงขับรถหักหลบรถจักรยานยนต์ล้อรถด้านซ้ายตกถนน จึงทำให้รถพลิกคว่ำ เห็นว่าหากจำเลยขับรถหักหลบรถจักรยานยนต์เพียงเล็กน้อย หรือหากเบรกรถใช้การได้ดีจำเลยเบรกรถเพื่อชะลอความเร็วลงบ้าง ก็ไม่น่าจะถึงกับทำให้รถพลิกคว่ำเมื่อพิจารณาคำร้อยโทเสริมซึ่งไปตรวจสภาพรถหลังเกิดเหตุพบว่าเบรกชำรุด ประกอบข้อความในบันทึกการตรวจสภาพรถยนต์และอุปกรณ์เอกสารหมายจ.3 ที่ว่าท่อยางเบรกอ่กน ล้อหน้าซ้ายมีรอยแตก น้ำมันรั่ว ทำให้รถเบรกไม่อยู่ทั้งจำเลยเองก็ให้การชั้นสอบสวนว่าเบรกแตก ที่อ้างว่าพนักงานสอบสวนแนะนำนั้น ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน รับฟังไม่ได้ส่วนคำร้อยตำรวจโทน้ำตาลที่ว่าจากผลการตรวจสภาพเบรกรถยังใช้การได้นั้นนอกจากจะขัดกับเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งร้อยตำรวจโทน้ำตาลได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วยแล้วยังขัดกับพยานหลักฐานอื่นดังกล่าว ทำให้ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุเบรกล้อหน้าซ้ายของรถที่จำเลยขับชำรุดใช้การไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเหยียบเบรกรถตามสัญชาติญาณของคนขับรถเมื่อประสบเหตุการณ์คับขัน จึงไม่สามารถบังคับรถให้แล่นไปตามทิศทางบนถนนได้ เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำตกจากถนน เมื่อพิจารณาถึงความชำรุดของเบรกดังที่ปรากฏในบันทึกการตรวจสภาพรถยนต์และอุปกรณ์เอกสารหมาย จ.3 ที่ว่าท่อยางเบรกอ่อน ล้อหน้าซ้ายมีรอยแตกน้ำมันเบรกรั่ว ประกอบคำร้อยโทเสริมที่ว่าก่อนที่เบรกรถจะเสียจะมีอาการบอกก่อนเช่น น้ำมันเยิ้มตามสายเบรกและเบรกไม่อยู่นั้น จะเห็นได้ว่าการที่ท่อยางเบรกอ่อนล้อหน้าซ้ายมีรอยแตกจนกระทั่งแบรกไม่อยู่นั้น ย่อมจะมีข้อชำรุดบกพร่องให้พบเห็นได้ก่อน แต่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ขับรถประจำรถคันดังกล่าว มิได้ตรวจตราซ่อมแซมให้ท่อยางเบรกอ่อนล้อหน้าซ้ายอยู่ในสภาพสมบูรณ์เสียก่อนที่จะนำรถออกแล่นจนกระทั่งเกิดเหตุขึ้น ถือได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณืและจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่จำเลยหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีโดยละเอียดแล้วเห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักไปจึงสมควรแก้ไขให้เหมาะสม”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา291, 300 ด้วย ลงโทษตามมาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดให้จำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

สรุป

การที่ท่อยางเบรกอ่อนล้อหน้าซ้าย รถยนต์มีรอยแตก จนกระทั่งเบรกไม่อยู่ ย่อมจะมีข้อชำรุด บกพร่องให้พบเห็นได้ก่อน แต่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ขับรถประจำรถคันดังกล่าว มิได้ตรวจตรา ซ่อมแซม ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เสียก่อนที่จะนำรถออกแล่นจนกระทั่งเกิดเหตุขึ้นถือได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่จำเลยหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่.

Facebook Comments