Home บทความ ยอมลงนามในสัญญาเพิ่มเติมการก่อสร้างล่าช้า ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ยอมลงนามในสัญญาเพิ่มเติมการก่อสร้างล่าช้า ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

759

ยอมลงนามในสัญญาเพิ่มเติมการก่อสร้างล่าช้า ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5366/2533

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาด้วยกัน

โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ทำการปรับปรุงถนนสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) ตามสัญญาที่ 32/2521และสัญญาที่ 145/2521 โดยตามสัญญาที่ 32/2521 ให้โจทก์ก่อสร้างพื้นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างท่อระบายน้ำ สร้างคันหิน สร้างทางเท้าปูกระเบื้อง สร้างท่อลอดถนน สร้างเขื่อนกันดิน ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างเป็นรายเดือนตามผลงาน ค่างานทั้งหมดตามสัญญาไม่เกิน 20,538,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาในวันที่ 19พฤศจิกายน 2521 หากเสร็จล่วงเลยเวลาถูกปรับเป็นรายวันวันละ4,500 บาท ส่วนตามสัญญาที่ 145/2521 ให้โจทก์ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสร้างคันหิน สร้างทางเท้าปูกระเบื้อง ในวงเงินไม่เกิน9,309,188 บาท จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินให้โจทก์เป็นรายเดือนตามผลงานโดยจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 มกราคม 2522 และโจทก์ต้องลงมือทำงานภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2521 หากเสร็จล่วงเลยเวลาถูกปรับวันละ 4,500 บาท การก่อสร้างตามสัญญาที่ 145/2521 เป็นการกระทำต่อเนื่องจากสัญญาที่ 32/2521 ทั้งสองสัญญาจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้จำเลยที่ 3, 4และ 5 เป็นกรรมการตรวจการจ้างและมอบให้จำเลยที่ 6, 7, 8 และ 9เป็นผู้ควบคุมงานรับผิดชอบโดยตรง โจทก์ได้เข้าทำการก่อสร้างตามสัญญาทันที แต่ก็ได้พบอุปสรรคขัดขวางการทำงานของโจทก์ โดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ แต่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยทั้งเก้า ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2521 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ 32/2521 ลดระดับถนนลง ลดเวลาการทำงานตามสัญญาจาก 300 วันเหลือ 295 วัน แก้ไขเนื้องานและเงินตามสัญญาที่ 32/2521 เป็นเงินตามสัญญา 20,210,160.75 บาท วันสิ้นสุดสัญญาเป็นวันที่ 14พฤศจิกายน 2521 และได้มีการทำสัญญาแก้ไขสัญญาที่ 145/2521เพิ่มเติมอีก เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2522 เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขสัญญาที่ 32/2521 โจทก์ได้ทำการก่อสร้าง ส่งมอบงานและขอเบิกเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาที่ 32/2521 และ 145/2521โดยส่งมอบงานและขอเบิกเงินจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาที่ 32/2521และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมรวม 8 ครั้ง รวมขอเบิก 20,461,725.55 บาทจำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์จำนวน 18,526,725.55 บาท จำเลยที่ 1หักไว้อ้างว่าเป็นค่าปรับจำนวนทั้งสิ้น 1,935,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะหักไว้ และโจทก์ขอเบิกตามสัญญาที่ 145/2521และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 6 ครั้ง รวมขอเบิก 8,943,604 บาทจำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์ 8,126,500 บาท จำเลยที่ 1 หักไว้ อ้างว่าเป็นค่าปรับสร้างเกินกำหนดสัญญาจำนวนเงิน 2,626,104 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะหักไว้ ต่อมาวันที่ 24กรกฎาคม 2523 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ 32/2521 ครั้งที่ 2 แก้ไขวงเงินเป็น 20,461,725.55 บาทและแก้ไขวันก่อสร้างแล้วเสร็จเป็น 298 วัน ครบกำหนดวันที่ 17พฤศจิกายน 2521 และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์กับจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ 145/2521 ครั้งที่ 2 แก้ไขวงเงินเป็น 9,174,804 บาท และแก้วันก่อสร้างให้เสร็จเป็น 334 วันครบกำหนดวันที่ 26 พฤษภาคม 2522 เป็นการเอาเปรียบโจทก์แต่ฝ่ายเดียวทั้งที่จำเลยที่ 1 ทราบว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบ การกำหนดเวลาดังกล่าวในสัญญาจึงไม่มีผลใช้บังคับและโจทก์ไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะอ้างเป็นการชำระค่าปรับ โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินที่ค้างตามสำนวนแรกจำนวน 1,935,000 บาท ตามสำนวนหลังจำนวน 2,626,104 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 7 ในสำนวนแรกขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยนอกนั้นทั้งสองสำนวนให้การเป็นใจความว่า จำเลยทั้งเก้าได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยสุจริตถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการทุกประการ อุปสรรคตามที่โจทก์กล่าวอ้างมิได้เป็นอุปสรรคการทำงานของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้ต่ออายุสัญญาในเหตุดังกล่าวให้ตามสมควรแล้ว เหตุทำงานล่าช้าของโจทก์ เพราะโจทก์ลงมือทำงานล่าช้ามาก

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินค่าก่อสร้างทั้งสองสำนวน (สองสัญญา) เป็นเงินรวม 3,762,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิปรับโจทก์เนื่องจากมีอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างต้องล่าช้าซึ่งมิใช่ความผิดของโจทก์เกิดขึ้นหลายประการ ในเรื่องเกี่ยวกับอุปสรรคที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น แม้รับฟังได้ว่ามีอุปสรรคบางประการมิใช่ความผิดของโจทก์เกิดขึ้นจริง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาที่ 32/2521 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2521 ไปยังจำเลยที่ 1 เพื่อขอต่ออายุสัญญาตามเอกสารหมาย จ.64 จำเลยที่ 1 ได้เรียกโจทก์ไปทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ 32/2521 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2521แม้จะมีการลดเวลาก่อสร้างลงอีกถึง 5 วัน และขณะนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 14 วัน ก็จะถึงวันสิ้นสุดสัญญาที่แก้ไขใหม่ แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวโดยดี และแม้ต่อมาหลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 แล้วโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2522 ถึงจำเลยที่ 1 ขอให้พิจารณาต่ออายุสัญญาที่ 32/2521 อีกครั้งหนึ่ง ตามเอกสารหมายจ.63 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกโจทก์ไปทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่32/2521 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2523 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาที่ 32/2521 เสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับหลังนี้เพิ่มเวลาก่อสร้างเพียง 3 วัน โจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมากและก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงินจำนวนมาก แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ 32/2521 ครั้งที่ 2 โดยดีอีกเช่นกันส่วนการก่อสร้างตามสัญญาที่ 145/2521 ซึ่งเป็นการก่อสร้างต่อเนื่องจากสัญญาที่ 32/2521 นั้นสัญญาฉบับนี้กำหนดไว้ว่า ต้องลงมือก่อสร้างหลังจากสัญญาที่ 32/2521 ทำการก่อสร้างไปแล้ว 170 วัน และปรากฏว่าการก่อสร้างตามสัญญาฉบับนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเช่นเดียวกับสัญญาที่32/2521 แม้น่าเชื่อว่าอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างตามสัญญาที่32/2521 ล่าช้า มีผลทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับนี้ล่าช้าไปด้วยแต่เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกไปทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ 145/2521ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับนี้เสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เพิ่มเวลาการก่อสร้างให้โจทก์อีกเพียง 127 วัน โจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงินจำนวนมาก แต่โจทก์ยังคงยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ 145/2521 ครั้งหลังนี้โดยดีอีกเช่นกัน พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญาในสัญญาทุกฉบับที่ทำกับจำเลยที่ 1 และไม่ติดใจในเงินค่าปรับที่ต้องถูกหักจากค่าจ้างตามสัญญา มิฉะนั้นโจทก์คงไม่ยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับและยอมให้จำเลยที่ 1หักเงินไว้เป็นค่าปรับตอนจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวดโดยดี โดยเฉพาะขณะที่ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้งสองฉบับครั้งสุดท้ายโจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้วและได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายไปแล้ว หากโจทก์ยังติดใจเรื่องกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญาและค่าปรับ โจทก์น่าจะทำความตกลงในเรื่องดังกล่าวกับจำเลยที่ 1ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องรีบลงนามในสัญญา เนื่องจากขณะนั้นไม่มีผลประโยชน์ที่โจทก์อาจต้องสูญเสียอีกแล้ว โจทก์เพิ่งโต้แย้งเรื่องเงินค่าปรับ เมื่อจำเลยที่ 1มีหนังสือลงวันที่ 16 ธันวาคม 2524 แจ้งว่าจะต่ออายุสัญญาที่32/2521 ให้โจทก์อีก 85 วัน ซึ่งมีผลทำให้โจทก์ได้ค่าปรับคืน 85 วันตามเอกสารหมาย จ.76 และนำคดีมาฟ้องขอคืนค่าปรับตามสัญญาทั้งสองฉบับทั้งหมดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิปรับ แต่เมื่อโจทก์ยอมทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้งสองฉบับกับจำเลยที่ 1 และมีพฤติการณ์ที่แสดงว่า โจทก์มิได้ติดใจเงินค่าปรับมาก่อน ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนั้นน่าเชื่อว่าเป็นเพราะหากปฏิบัติตามสัญญาต่อไป โจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาเป็นจำนวนมาก โจทก์จึงต้องผูกพันตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้งสองฉบับที่ทำกับจำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าปรับที่จำเลยที่ 1 หักไว้ อย่างไรก็ตามคดีนี้โจทก์ฟ้องขอคืนค่าปรับทั้งหมด จำเลยที่ 1 ให้การว่า ยอมคืนค่าปรับให้โจทก์ 85 วัน ซึ่งคิดเป็นเงิน 382,500 บาท แม้ในฎีกาของจำเลยที่ 1 ก็มีข้อความยืนยันว่ายอมคืนค่าปรับจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนค่าปรับที่หักไว้จำนวน 382,500 บาทแก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 382,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

สรุป

แม้อุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าบางประการมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่ก่อนครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาฉบับแรก โจทก์กับจำเลยที่ 1ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวครั้งที่ 1 มีการลดเวลาการก่อสร้างลงอีก 5 วัน และขณะนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 14 วัน ก็จะถึงกำหนดเวลาที่แก้ไขใหม่ แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวโดยดี และต่อมาเมื่อมีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวเสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับหลังเพิ่มเวลาก่อสร้างเพียง 3 วันโจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับแรกครั้งที่ 2 โดยดีอีกเช่นกัน ส่วนการก่อสร้างตามสัญญาฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการก่อสร้างต่อเนื่องจากสัญญาฉบับแรก กำหนดไว้ว่าต้องลงมือก่อสร้างหลังจากทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับแรกไปแล้ว 170 วัน และปรากฏว่าการก่อสร้างตามสัญญาฉบับนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรกแม้น่าเชื่อว่าอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับแรกล่าช้ามีผลทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับหลังล่าช้าไปด้วยแต่เมื่อมีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับหลังครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับหลังเสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเพิ่มเวลาการก่อสร้างให้โจทก์อีกเพียง 127 วัน โจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์ยังคงยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวอีกเช่นกัน พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับกำหนดเวลาสิ้นสุดในสัญญาทุกฉบับที่ทำกับจำเลยที่ 1 และไม่ติดใจเงินค่าปรับที่ต้องถูกหักจากค่าจ้างตามสัญญา โจทก์จึงต้องผูกพันตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้งสองฉบับและไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าปรับที่จำเลยที่ 1 หักไว้

Facebook Comments