Home บทความ อายุความในการฟ้องร้องเรียกค่าวัสดุก่อสร้าง

อายุความในการฟ้องร้องเรียกค่าวัสดุก่อสร้าง

2183

 

อายุความในการฟ้องร้องเรียกค่าวัสดุก่อสร้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2506

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารทุกชนิดตลอดจนรับจ้างหรือรับเหมาอย่างอื่น ซึ่งเกี่ยวกับการก่อสร้างทุกอย่าง จำเลยที่ ๑ ได้ซื้อเชื่อสิ่งของสำหรับใช้ในการก่อสร้างจากโจทก์เป็นคราว ๆ อันเป็นการกระทำเพื่ออุตสาหกรรมของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ผูกพันตนต่อโจทก์รับเข้าเป็นผู้ชำระเงินแทนจำเลยที่ ๑ ในเมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดนัด ต่อมาจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระราคาสิ่งก่อสร้างให้แก่โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองใช้ราคา

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้หลายประการ และตัดฟ้องว่า สิทธิฟ้องร้องของโจทก์มีกำหนดอายุความ ๒ ปี ขาดอายุความต้องห้ามมิให้ฟ้องแล้ว

ในชั้นพิจารณาคู่ความแต่ละฝ่ายส่งอ้างเอกสารหลักฐาน และแถลงรับข้อความบางข้อ และแถลงรับด้วยว่า (๑) บริษัทประพันธ์จำกัด จำเลยเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ทำการรับเหมาก่อสร้างในที่ต่าง ๆ โดยทั่วไป (๒) สิ่งของที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องว่าบริษัทประพันธ์จำกัด จำเลยซื้อเชื่อไปเป็นสิ่งของที่บริษัทประพันธ์ จำกัด ซื้อเอาไปใช้ในการก่อสร้าง ที่บริษัทจำเลยประมูลหรือรับเหมาก่อสร้างได้ในที่ต่าง ๆ กันถูกต้องแล้ว เมื่อโจทก์จำเลยแถลงรับกันดังนี้ ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย

ศาลชั้นต้นเห็นว่าอายุความเรียกร้องสำหรับจำเลยที่ ๑ มีกำหนดเพียง ๒ ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๑) จำเลยที่ ๑ ซื้อเชื่อไปเกิน ๒ ปีแล้ว จึงขาดอายุความ และเป็นผลให้จำเลยที่ ๒ หลุดพ้นความผิดไปด้วยความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๘ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยซื้อเชื่อสิ่งของในการก่อสร้างไปใช้ในการก่อสร้างที่จำเลยที่ ๑ ประมูลหรือรับเหมาก่อสร้าง เป็นการทำเพื่ออุตสาหกรรมของจำเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามที่บัญญัติยกเว้นไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๑) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จึงให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาทำการก่อสร้างได้ซื้อเชื่อสิ่งของของโจทก์ไปใช้ในการก่อสร้างในที่ทั่ว ๆ ไป สุดแต่บริษัทจำเลยที่ ๑ จะรับเหมาทำการก่อสร้างได้นั้น มิใช่เป็นการที่ได้ทำเพื่อการอุตสาหกรรมของจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกหนี้ เพราะตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้คำแปล “อุตสาหกรรม” ว่า การทำสิ่งของเพื่อให้เป็นสินค้า และคำว่า “สินค้า” ให้คำแปลว่า สิ่งของที่ซื้อขายกัน สิ่งของที่ซื้อกันในคดีนี้เป็นสินค้าก็แต่สำหรับทางฝ่ายโจทก์ผู้เป็นพ่อค้าที่มีไว้ขาย แต่มิใช่เป็นสินค้าสำหรับทางฝ่ายจำเลยที่ ๑ เพราะจำเลยที่ ๑ หาได้ซื้อมาเพื่อประดิษฐ์ผลิตออกจำหน่ายขายไปไม่ การที่จำเลยที่ ๑ ซื้อสิ่งของจากโจทก์มาใช้ในการก่อสร้างตามที่ตกลงรับเหมาก่อสร้างได้ เป็นการจัดหาสัมภาระมาใช้ทำการงานเพื่อได้สินจ้างในผลสำเร็จแห่งการที่รับเหมาก่อสร้างนั้น หาใช่เป็นกิจการในการประดิษฐ์สิ่งของเพื่อให้เป็นสินค้าไม่ อายุความเรียกร้องสำหรับจำเลยที่ ๑ จึงมีกำหนดเพียง ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๑) ที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นในการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้

เมื่อโจทก์ฟ้องเกิน ๒ ปี จึงขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ ๑ แล้ว และที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ว่าสิทธิฟ้องร้องของโจทก์มีกำหนดอายุความ ๒ ปี ขาดอายุความแล้วนั้น คำให้การต่อสู้เช่ารนี้แสดงความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยโต้เถียงในข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ ๑ ซื้อเชื่อสิ่งของอันเป็นการกระทำเพื่ออุตสาหกรรมของจำเลยด้วยแล้ว เพราะถ้าหากเป็นการกระทำเพื่ออุตสาหกรรมของจำเลยที่ ๑ อายุความก็ต้องมีกำหนด ๕ ปี ไม่ใช่ ๒ ปีตามที่จำเลยต่อสู้ ศาลจึงวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ที่ว่า การซื้อเชื่อสิ่งของรายนี้เป็นการกระทำเพื่ออุตสาหกรรมของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนวิธีพิจารณาแต่อย่างใด

เมื่อฟ้องของโจทก์ขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นผลให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๘ ด้วย

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์

สรุป

บริษัทผู้รับเหมาทำการก่อสร้างซื้อเชื่อสิ่งของไปใช้ในการก่อสร้างในที่ทั่ว ๆ ไป สุดแต่บริษัทจะรับเหมาทำการก่อสร้างได้ นั้นมิใช่เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของบริษัทผู้เป็นลูกหนี้ เพราะบริษัทนั้นหาได้ซื้อมาเพื่อประดิษฐ์ผลิตออกจำหน่ายขายไปไม่ แต่เป็นการจัดหาสัมภาระมาใช้ทำการงานเพื่อได้สินจ้างในผลสำเร็จแห่งการที่รับเหมาก่อสร้างนั้น อายุความเรียกร้องจึงมีกำหนดเพียง 2 ปี

Facebook Comments