Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ แข่งรถในทาง รถที่แข่ง ถือเป็นทรัพย์ที่ใช้ใน การกระทำความผิดหรือไม่

แข่งรถในทาง รถที่แข่ง ถือเป็นทรัพย์ที่ใช้ใน การกระทำความผิดหรือไม่

687

แข่งรถในทาง รถที่แข่งถือเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4773/2539

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2537 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ ไปตามถนนเพชรเกษมโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถตามกฎหมาย และจำเลยขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวแข่งกับพวกอีกหลายคนซึ่งขับรถจักรยานยนต์อีกหลายคันไปตามถนนเพชรเกษม ในลักษณะแข่งขันความเร็วกันโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 43, 64 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 134, 160 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,77, 74 ริบของกลางและเรียกบิดามารดาจำเลยมาวางข้อกำหนดให้ระวังดูแลจำเลยมิให้ก่อเหตุร้ายและกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องชำระเมื่อจำเลยก่อเหตุร้ายขึ้นอีก

จำเลย ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 43, 64พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 134(ที่ถูกคือ 134 วรรคหนึ่ง), 160 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,74, 77 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ปรับ 400 บาท ฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาทรวมจำคุก 1 เดือน ปรับ 4,400 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน ปรับ2,200 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ควบคุมตัวไว้เพื่อฝึกและอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลามีกำหนด 31 วัน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 107และวางเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ทุก 4 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี สำหรับคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น เห็นว่าความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต สาระสำคัญอยู่ที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร ดังนั้นรถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำผิดแต่อย่างใด จึงไม่อาจริบให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลย ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่ารถจักรยานยนต์ของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นทรัพย์สินที่ศาลจะให้ริบได้หรือไม่เห็นว่า ที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดแข่งรถในทาง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจรนั้น เมื่อจำเลยแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจร ก็ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว และโดยสภาพรถจักรยานยนต์ของกลางย่อมเป็นทรัพย์สินซึ่งใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวศาลย่อมจะมีอำนาจสั่งให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ได้

พิพากษายืน

สรุป

รถจักรยานยนต์ซึ่งจำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจรเป็นทรัพย์สินซึ่งใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลสั่งให้ริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา33(1)

Facebook Comments