Home บทความคดีแพ่ง คดีฉ้อโกงผู้ถูกหลอกลวงต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือไม่

คดีฉ้อโกงผู้ถูกหลอกลวงต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือไม่

1321

คดีฉ้อโกงผู้ถูกหลอกลวงต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2705/2543

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341

 

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

 

จำเลยให้การปฏิเสธ

 

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 3,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งเป็นเวลา 1 ปีให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร ในกรณีจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

 

โจทก์ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ตามฟ้องยังเป็นของจำเลยอยู่ แม้จำเลยจะนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวมอบให้โจทก์เป็นประกันตามสัญญากู้ยืม แล้วต่อมาจำเลยหลอกลวงเอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ไปก็ยังไม่อาจถือว่าจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ ทั้งการหลอกลวงของจำเลยเพื่อเอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ไปจากโจทก์ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำให้โจทก์ทำถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิแต่อย่างใด นั้น เห็นว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่จำเลยมอบให้โจทก์เป็นประกันตามสัญญากู้ยืม โจทก์มีสิทธิที่จะยึดถือไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสียก่อน และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แม้เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว ตามสภาพเป็นวัตถุมีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้จึงเป็นทั้งทรัพย์และทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137, 138 ฉะนั้น ถ้าหากจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์และการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ได้เพราะความผิดนี้ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้จะเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ ใครหลอกลวงให้เขาส่งทรัพย์นั้นก็อาจมีความผิดตามมาตรานี้ได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่วินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ยังไม่ยุติและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225”

 

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

สรุป

หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่จำเลยมอบให้โจทก์เป็นประกันตามสัญญากู้ยืม โจทก์มีสิทธิจะยึดถือไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสียก่อน และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แม้เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว ตามสภาพเป็นวัตถุมีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ จึงเป็นทั้งทรัพย์และทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137,138 ฉะนั้น ถ้าหากจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์และการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ได้ เพราะความผิดฐานนี้ ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์แม้จะเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ ใครหลอกลวงให้เขาส่งทรัพย์นั้นก็อาจมีความผิดตามมาตรานี้ได้

Facebook Comments