Home บทความคดีแพ่ง นำเงินไปเข้าธนาคารตามจำนวนที่เช็คเด้ง ให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันหรือไม่

นำเงินไปเข้าธนาคารตามจำนวนที่เช็คเด้ง ให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันหรือไม่

1169

นำเงินไปเข้าธนาคารตามจำนวนที่เช็คเด้ง ให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2535

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินตามจำนวนในเช็คไปชำระแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน คดีเป็นอันเลิกกัน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าคดีจะเลิกกันตามมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์สำคัญดังนี้ จำเลยได้นำเงินตามเช็คไปชำระให้แก่โจทก์ หรือให้แก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็ค ประเด็นที่ว่า”จำเลยได้นำเงินตามเช็คไปชำระแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็ค”นั้น ต้องมีข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นโดยชัดเจนจริง ๆ ว่า การนำเงินตามเช็คไปชำระแก่ธนาคารของจำเลยนั้นเป็นการชำระเพื่อจ่ายเงินตามเช็คให้แก่โจทก์จริง ๆ ต้องมีการแจ้งให้โจทก์ทราบว่าบัดนี้มีเงินในบัญชีแล้วขอให้โจทก์เอาเช็คไปขึ้นเงินได้ หรือจำเลยจะแจ้งแก่ธนาคารว่าที่จำเลยเอาเงินเข้าบัญชีครั้งนี้ จำเลยมีเจตนานำเข้าเพื่อเป็นการชำระตามเช็คฉบับที่จำเลยออกให้แก่โจทก์โดยเฉพาะ หรือขอให้ธนาคารเป็นผู้แจ้งแทนจำเลยไปยังโจทก์เพื่อให้นำเช็คมาขึ้นเงินได้มิใช่ว่าการที่จำเลยเอาเงินไปเข้าบัญชีของจำเลยตามปกติธรรมดาแล้วจะถือว่าเป็นการเอาเงินเข้าบัญชีเพื่อจ่ายเงินตามเช็ค เพราะอาจเป็นไปได้ว่าที่จำเลยนำเข้าบัญชีนั้นก็เพื่อจ่ายเงินตามเช็คฉบับอื่น ๆ ที่จำเลยออกชำระหนี้ให้แก่บุคคลอื่น ๆ ไป คดีจึงไม่อาจเลิกกันได้

พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำผิดตามมาตรา 3 ได้นำเงินตามเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ทรงเช็คได้บอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้คดีเป็นอันเลิกกันตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” จากข้อความตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ในกรณีที่ผู้ออกเช็คหรือจำเลยได้นำเงินไปชำระแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คไม่มีข้อความบังคับว่าผู้ออกเช็คหรือจำเลยจะต้องแจ้งให้ผู้ทรงเช็คหรือโจทก์ทราบหรือขอให้ธนาคารแจ้งให้ผู้ทรงเช็คทราบแทนผู้ออกเช็คหรือต้องแจ้งให้ธนาคารทราบว่า เงินที่ผู้ออกเช็คนำเข้าบัญชีนั้นเป็นการนำเข้าเพื่อจ่ายตามเช็คนั้นโดยเฉพาะดังที่โจทก์ฎีกาไม่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีธนาคารเป็นจำนวนเงินเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คนั้น โดยมีพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าเป็นเงินที่ผู้ออกเช็คนำไปชำระแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องนี้แล้วคดีย่อมเป็นอันเลิกกันตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน.

สรุป

ในกรณีที่ผู้ออกเช็คได้นำเงินไปชำระแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็ค ให้คดีเป็นอันเลิกกัน ดังที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5 บัญญัติไว้นั้น เมื่อได้ความว่าผู้ออกเช็คได้นำเงินเข้าบัญชีธนาคารเป็นจำนวนเงินเท่ากับจำนวนเงินตามเช็ค โดยมีพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าเป็นเงินที่ผู้ออกเช็คนำไปชำระแก่ธนาคาร เพื่อจ่ายเงินตามเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องแล้วคดีย่อมเป็นอันเลิกกันตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ.

Facebook Comments