Home ทั้งหมด ถูกฟ้องหย่าแยกกันอยู่เกินสามปี จุดสู้คดีมีอะไรบ้าง

ถูกฟ้องหย่าแยกกันอยู่เกินสามปี จุดสู้คดีมีอะไรบ้าง

930

ถูกฟ้องหย่าแยกกันอยู่เกินสามปี จุดสู้คดีมีอะไรบ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2560

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

จำเลยฎีกาในประเด็นใด

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2526 โดยพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่ 29/1 ประกอบกิจการที่พักชื่อ ส. รีสอร์ต และบ้านเลขที่ 59/9 ซึ่งประกอบกิจการชื่อร้านขนมจีน ข.

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยเนื่องจากจำเลยทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ ถือว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินสามปี จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยแยกกันอยู่เพื่อความสะดวกในการบริหารกิจการของครอบครัว โดยโจทก์ประกอบกิจการที่พักชื่อ ส. รีสอร์ต ส่วนจำเลยประกอบกิจการร้านขนมจีน ข. แต่ยังคงประกอบกิจการร่วมกันและไปมาหาสู่กัน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์

ข้อต่อสู้ของจำเลยในชั้นฎีกา

จำเลยก็ยังคงต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์และการแยกกันอยู่นั้นไม่ถึงขนาดที่มีเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินกว่าสามปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนโดยฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินสามปี ดังนี้ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่จำใจแยกกันอยู่กับโจทก์เนื่องจากโจทก์ยกย่องนางกระดังงา เป็นภริยาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จำเลยรู้สึกอับอาย จึงแยกมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 59/9 นั้น จึงเป็นฎีกาที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลย จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

เหตุผลที่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ศาลฎีกาพิเคราะห์ฎีกาของจำเลยโดยตลอดแล้วเห็นว่า ฎีกาของจำเลยมีเพียงประเด็นเดียวว่าจำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่ที่แยกกันอยู่เพราะมีเหตุผลที่โจทก์ยกย่องนางกระดังงาเป็นภริยาทำให้จำเลยอับอาย จึงมิใช่กรณีที่โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไรเพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยอ้างเหตุโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินสามปี จำเลยให้การต่อสู้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์และการแยกกันอยู่นั้นไม่ถึงขนาดที่มีเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินกว่าสามปี ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่จำใจแยกกันอยู่กับโจทก์เนื่องจากโจทก์ยกย่อง อ. เป็นภริยาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จำเลยรู้สึกอับอายจึงแยกมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 59/9 นั้น จึงเป็นฎีกาที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773

ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments