Home ทริบเทคนิค/บทความ ตัวอย่างการเขียนตอบ ข้อสอบอัยการ

ตัวอย่างการเขียนตอบ ข้อสอบอัยการ

10670

ตัวอย่างการเขียนตอบข้อสอบอัยการ

(ตัวอย่างที่ ๑)

ข้อ ๑) คำถาม กรมตำรวจได้ส่งสำเนารายการประวัติอาชญากรของนายศรีตามหมายเรียกของศาล โดยมีพลตำรวจตรีสมเดช ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากรรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้อง เอกสารดังกล่าวมีรายการที่นายศรีต้องหาในคดีต่างๆ รวม ๗ รายการ นายธงผู้เสียหายได้ขออนุญาตศาลถ่ายภาพเอกสารฉบับนี้ โดยไม่มีผู้ใดรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารที่ถ่าย แล้วได้กรอกรายการที่ ๘ เพิ่มเติมลงในสำเนาเอกสารที่ถ่ายดังกล่าว มีข้อความว่า นายศรีเคยต้องโทษในคดีอื่นอีกตามที่เป็นจริง แล้วนำไปแจกให้บุคคลอื่น

ให้ท่านวินิจฉัยการกระทำของนายธงในความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

แนวการเขียนตอบ

(๑)ตามปัญหา เป็นเรื่องความผิดเกี่ยวกับการปลอมและใช้เอกสารปลอม รวมถึงมีประเด็นว่า

เป็นการปลอมหรือใช้เอกสารราชการปลอมด้วยหรือไม่

(๒)ป.อาญา. ได้บัญญัติไว้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้ดังต่อไปนี้

– ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือเติมข้อความหรือแก้ไขข้อความในเอกสาร โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และถ้าได้กระทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษซึ่งมีลายมือชื่อผู้อื่น โดยไม่ได้รับความยินยอม ถ้านำเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร

-ผู้ใดใช้เอกสารปลอม โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

-เอกสาร หมายถึงกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร

-เอกสารราชการ หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย

(๓) คดีนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องถึงเอกสารราชการ เห็นควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า เอกสารราชการมีความหมายเพียงใด

เอกสารราชการ มีได้หลายประเภท เฉพาะที่เกี่ยวข้องในปัญหาข้อนี้ ได้แก่ เอกสารที่เป็นสำเนาเอกสาร และเจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย

คำว่ารับรองในหน้าที่ย่อมหมายถึงการลงนามเพื่อแสดงการรับรองให้ปรากฏว่า สำเนาเอกสารนั้นเป็นเอกสารราชการจริง ประเด็นอยู่ที่การลงนามนั้นมีความหมายเพียงใด การที่เอกสารปรากฏนามที่แสดงถึงการลงนามปรากฏอยู่จะเป็นการลงนามเพื่อรับรองหรือไม่ พิจารณาตามเจตนารมณ์ของการลงนามย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า เจ้าพนักงานจะต้องลงนามด้วยปากกาหรือเครื่องเขียนลงไปในเอกสารแผ่นนั้น ๆ ด้วยมือของตนเอง เพื่อเป็นหลักฐานว่า เอกสาร ”เฉพาะแผ่น” นั้น ๆ ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากเจ้าพนักงานในหน้าที่ของตนแล้ว กรณีมิได้รวมถึงการปรากฏลายมือชื่อในเอกสารนั้นจากการถ่ายทำสำเนา ดังนั้น เอกสารแผ่นที่ผ่านการถ่ายสำเนาเอกสารราชการที่ปรากฏลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ได้เคยลงนามหรือรับรองไว้ จึงมิใช่เอกสารราชการ คงเป็นเพียงเอกสารธรรมดาทั่วไป

สำหรับการปลอมเอกสารทั่วไป ย่อมถือว่า เอกสารย่อมมีสาระสำคัญที่ข้อความที่ปรากฏอยู่แต่เดิมในเอกสารเท่านั้น การที่จะถือว่าเป็นการปลอมเอกสารหรือไม่จึงดูที่สาระสำคัญของถ้อยคำในเอกสารนั้นเองว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง “ความถูกต้องแท้จริง” ของถ้อยคำที่เพิ่มเติมเข้ามา หากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของเอกสารเดิมไป ไม่ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ มิใช่ข้อสำคัญ ดังนั้นหากมีการกระทำใดที่ทำให้สาระสำคัญของเอกสารเดิมเปลี่ยนแปลงไป ย่อมถือว่าเป็นการปลอมเอกสารทั้งสิ้น

๔)การปรับบท

ในชั้นการถ่ายเอกสารตามโจทย์ปัญหาข้อนี้ นายธงได้ขออนุญาตถ่ายภาพเอกสารจากศาลแล้ว จึงเป็นการทำเอกสารขึ้นใหม่ แต่ในชั้นนี้ยังไม่เป็นการทำปลอมเอกสาร เพราะเป็นการกระทำเอกสารขึ้นใหม่ตามที่ศาลได้อนุญาตไว้ แต่เมื่อนายธงได้เพิ่มเติมข้อความลงในสำเนาเอกสารดังกล่าว แม้ข้อความที่เพิ่มเติมจะเป็นความจริง แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในเอกสารเดิม ทำให้สาระสำคัญของเอกสารเดิมเปลี่ยนแปลงไปจากความผิด ๗ รายการเป็น ๘ รายการ กรณีจึงเป็นความผิดฐานการทำปลอมเอกสาร และเอกสารที่เกิดขึ้นเป็นเอกสารปลอม

เมื่อนายธงนำเอกสารที่ทำปลอมแล้วไปแจกให้บุคคลอื่น ทำให้บุคคลอื่นรู้ข้อความเรื่องราว

ที่เปลี่ยนแปลงไปจากสาระสำคัญของเอกสารเดิมนั้น จึงเป็นความผิด,ฐานการใช้เอกสารปลอมด้วย

อย่างไรก็ดี ตามที่ได้วินิจฉัยมาแต่ต้นว่า เอกสารที่นายธงทำปลอมขึ้นนี้ มิใช่แผ่นที่พลตำรวจตรีสมเดชลงนามไว้ และมิใช่เอกสารราชการ ดังนั้น การที่นายธงปลอมเอกสารแผ่นที่เป็นสำเนาจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ แ ละเมื่อนำไปใช้ก็มิใช่การใช้เอกสารราชการปลอม

๕)กล่าวโดยสรุป นายธงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร และฐานใช้เอกสารปลอม

นายธงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารราชการปลอม

(ตัวอย่างที่ ๒)

ข้อ ๒) คำถาม นายสมพรเป็นหนี้นายก้องและภรรยานายก้องอยู่สองหมื่นบาท จึงนำวัวท้องแก่กับหมูท้องแก่อย่างละตัวไปจำนำเป็นประกันหนี้แก่นายก้อง ต่อมาบุตรชายนายสมพร พบภรรยานายก้องที่ตลาดจึงชำระหนี้ให้ภรรยานายก้องไปครบถ้วนแล้ว แต่มิได้บอกเล่าให้บิดาทราบ ส่วนภรรยานายก้องก็ไม่ได้แจ้งเรื่องนี้ให้นายก้องทราบเช่นกัน

ระหว่างที่วัวอยู่กับนายก้องได้ตกลูกมา ๑ ตัว เวลาผ่านไป สองสัปดาห์ บุตรชายนายสมพรได้แจ้งเรื่องการชำระหนี้ให้นายสมพรทราบ นายสมพรจึงไปพบนายก้องขอรับหมูกับวัวคืน แต่ขณะนั้นภรรยานายก้องไม่อยู่บ้าน ไปธุระต่างจังหวัด ๑ สัปดาห์ นายก้องขอเวลารอให้ภรรยากลับมาก่อนเพื่อสอบถามเรื่องการชำระหนี้ ระหว่างนั้นหมูตกลูกออกมา ๑ ตัว เมื่อภรรยานายก้องกลับมา นายก้องทราบเรื่องราวชัดเจนแล้ว จึงคืนแม่หมูและแม่วัวให้นายสมพรไปครบถ้วน แต่ขอยึดลูกหมูและลูกวัวไว้ในฐานะดอกผลธรรมดา พร้อมทั้งเรียกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูแม่วัวและแม่หมูในช่วงเวลาที่แม่วัวและแม่หมูอยู่ในความดูแลของตนจากนายสมพรด้วย

ดังนี้ นายก้องจะมีสิทธิเรียกร้องต่อนายสมพรได้หรือไม่ อย่างไร

แนวคำตอบ

๑)กรณีตามปัญหา เป็นเรื่องลาภมิควรได้ ดอกผล การคืนลาภมิควรได้ และภาระติดพัน

๒)ในเรื่องนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

มาตรา ๔๐๖ บุคคลใดได้ทรัพย์สิ่งใดมาด้วยเหตุที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ และเป็นทางให้อีกบุคคลหนึ่งนั้นเสียเปรียบ บุคคลนั้นจะต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา

มาตรา ๔๑๕ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่

ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด ให้ถือว่า ผู้นั้นอยู่ในฐานะทุจริต นับแต่เวลาที่จะต้องคืนนั้น

มาตรา ๔๑๖ ค่าใช่จ่ายเพื่อบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมทรัพย์สินต้องชดใช้แก่บุคคลผู้คืนทรัพย์เต็มจำนวน

แต่บุคคลเช่นนี้จะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายธรรมดาเพื่อบำรุงทรัพย์สินในระหว่างที่ตนคงเก็บดอกผลไว้ไมได้

มาตรา ๑๔๘ ดอกผลของทรัพย์ ได้แก่ ดอกผลธรรมดา และดอกผลนิตินัย

ดอกผลธรรมดา คือ สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของ ทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ และถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น

๒)ทรัพย์ในคดีนี้ คือ แม่วัว และแม่หมูท้องแก่ ส่วนลูกวัวและลูกหมูต่างเป็น สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของแม่วัวและแม่หมู และขาดจากตัวแม่แล้ว จึงเป็นดอกผลธรรมชาติ

ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์ หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ผู้ที่ยึดถือทรัพย์ต้องเสียไปในการบำรุงรักษาตัวทรัพย์ ไม่ให้ทรัพย์นั้นเสียหาย

ดอกผลต่างๆ ย่อมตกได้แก่ผู้ยึดถือทรัพย์ขณะสุจริต เมื่อตกอยู่ในเวลาทุจริตแล้ว จะต้องคืนดอกผล

คดีมีประเด็นว่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์ในระหว่างทุจริตจะเรียกจากเจ้าของทรัพย์ได้หรือไม่ พิจารณาเห็นว่า การบำรุงรักษาทรัพย์เป็นไปเพื่อให้เจ้าของทรัพย์ได้ประโยชน์ ดังนั้น แม้อยู่ในภาวะทุจริต ผู้ที่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาทรัพย์ไปก็ยังมีสิทธิเรียกค่าบำรุงรักษาทรัพย์นั้นได้ อย่างไรก็ดี กฎหมายบัญญัติข้อยกเว้นซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งว่า ในกรณีที่ผู้ที่เสียค่าบำรุงรักษาทรัพย์ไปได้รับประโยชน์จากดอกผลแล้ว ย่อมไม่สามารถเรียกค่าบำรุงรักษาทรัพย์ได้

ประเด็นความทุจริตในเรื่องลาภมิควรได้ ความทุจริตในทางแพ่งตามบทบัญญัตินี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการทุจริตถึงระดับผิดกฎหมายอาญาหรือฉ้อโกงหรือถึงขั้นละเมิด เพียงแต่ว่าเมื่อผู้รับทรัพย์ไว้รู้ว่าตนไม่มีสิทธิรับ หรือมูลหนี้สิ้นไปแล้วก็จัดเป็นการทุจริตในส่วนนี้แล้ว

๔)ดังนั้น กรณีตามปัญหา

ประเด็นดอกผลที่เป็นลูกวัว ปรากฏว่าขณะแม่วัวตกลูกนั้น นายก้องเจ้าหนี้ยังไม่ทราบเรื่องการชำระหนี้ ถือว่า นายก้องสุจริต นายก้องจึงมีสิทธิยึดลูกวัวไว้ได้ ไม่ต้องคืนแก่นายสมพร

ประเด็นดอกผลที่เป็นลูกหมู เป็นเวลาทีนายสมพรชำระหนี้แล้ว นาย ก้องจึงมีหน้าที่คืนแม่หมู เมื่อยังไม่คืน ถือว่า ทุจริต เมื่อแม่หมูตกลูกมาในขณะนายก้องทุจริต นายก้องจึงไม่มีอำนาจยึดลูกหมูไว้ ต้องคืนให้นายสมพรไป

ประเด็นค่าบำรุงรักษาแม่วัวขณะนายก้องสุจริต จึงเรียกร้องค่าบำรุงเลี้ยงดูแม่วัวได้ แต่เนื่องจากนายก้องได้รับดอกผล คือ ตัวลูกวัวไปแล้ว จึงไม่สามารถจะเรียกค่าบำรุงรักษาแม่วัวได้

ประเด็นค่าบำรุงรักษาแม่หมู แม้นายก้องไม่สุจริต แต่ก็ยังมีอำนาจเรียกค่าบำรุงรักษาจากนายสมพร

ได้ เพราะเป็นการบำรุงรักษาที่นายสมพรได้รับประโยชน์

๑) สรุปได้ว่า นายสมพรมีสิทธิยึดลูกวัวไว้ได้ แต่ต้องคืนลูกหมูให้แก่นายก้องไป และนาย

สมพรไม่มีสิทธิเรียกค่าบำรุงรักษาแม่วัว แต่มีสิทธิเรียกค่าบำรุงรักษาแม่หมูได้

เครดิต ท่าน ถาวร เชาว์วิชารัตน์ อัยการอาวุโส

Facebook Comments