Home ทริบเทคนิค/บทความ 4คาถาความสำเร็จเขียนตอบ 3 สนาม(เนติ อัยการ ผู้พิพากษา)

4คาถาความสำเร็จเขียนตอบ 3 สนาม(เนติ อัยการ ผู้พิพากษา)

5148

 

ผู้อ่านที่รักทั้งหลาย (ที่เตรียมสอบเนฯ แต่ผมว่าใช้กับการเตรียมสอบได้ทุกสนาม)วันนี้ท่านผู้พิพากษาได้กรุณาใจดีเขียนบทความมอบ”คาถา 4 ข้อ” ไว้ป้องกันตัวไว้ใช้สำหรับหารสอบเนติบัณฑิตหรือสอบได้ทุกสนามโดยสรุปได้ดังนี้

1.วางหลักกฎหมาย

2.อธิบายเหตุผล

3.ดึงข้อเท็จจริงออกมา

4.สรุปปัญหาที่ถาม”

 

คำอธิบายแต่ละข้อ ให้สูดหายใจเข้าปอดแรง แล้วค่อยๆ อ่านอย่างละเอียด
๑) วางหลักกฎหมายที่เป็นประเด็นหลักก่อน ส่วนประเด็นรองๆ ไว้แทรกหลักกฎหมายสั้นๆ ตอนวินิจฉัยก็ได้

๑.๑) วิธีวางหลักกฎหมายหลายๆ มาตราพร้อมกัน เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ วางหลักกฎหมายไว้ว่า……………………ในเรื่องเบิกความเท็จ (กรณีจำเลขมาตราไม่ได้) กฎหมายวางหลักว่า…………นอกจากนี้มีหลักกฎหมายอีกว่า………..

๑.๒) วิธีการแทรกหลักกฎหมายในประเด็นรอง

ตัวอย่างเช่น “สำหรับความผิดฐานเบิกความเท็จ การที่นายสอนเบิกความว่าเป็นผู้นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แม้เป็นการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม ก็ย่อมถือว่าเป็นการเบิกความในการพิจารณาคดีต่อศาล ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗ วรรคแรก วางหลักไว้ว่า……………………(แทรกหลักกฎหมายตรงนี้)…. นายสอนจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ

สำหรับความผิดของนาย ก. นาย ข. นั้น เห็นว่า……… นาย ก. ไตร่ตรองอย่างหนักก่อนตัดสินใจอันเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อนต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๒๘๙ (๔) ซึ่งวางหลักไว้ว่า “ผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษประหารชีวิต” เมื่อการกระทำความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเกิดขึ้นโดยมีนาย ข. ร่วมด้วย จึงเป็นการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่ง ป.อ. ม. ๘๓ วางหลักว่า “ให้ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ” นาย ก.นาย ข. จึงผิดฐานตัวการร่วมฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

____________________________

๒) “อธิบายเหตุผล”

เมื่อวางหลักกฎหมายแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเราจะเอาองค์ประกอบข้อไหน (อาญา) หรือหลักเกณฑ์ (แพ่ง) ข้อไหนไปวินิจฉัย ฉะนั้น เพื่อไม่ให้หลักกฎหมายมันลอยๆ อยู่แบบนั้น เราจึงต้องอธิบายส่วนนั้น อธิบายสั้นๆ ให้ชัดเจน
๒.๑) อาจเป็นเหตุผลของศาลฎีกา

ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ บัญญัติไว้ว่า “……… ……………” ความผิดฐานลักทรัพย์ องค์ประกอบในส่วนของการกระทำ คือคำว่า “เอาไป” มีความหมายว่า เอาไปในลักษณะแย่งการครอบครองหรือตัดกรรมสิทธิ์ตลอดไป การที่…..นาย ก……

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ บัญญัติว่า “…………..” คำว่า “แสดงข้อความอันเป็นเท็จ” ตามมาตรา ๓๔๑ หมายถึง ข้อความเกี่ยวเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต

๒.๒) หากนึกเหตุผลของศาลฎีกาไม่ได้ ก็เอาหลักกฎหมายที่จะวินิจฉัยมาอธิบายสั้นๆ อีกครั้ง

ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ วางหลักกฎหมายไว้ว่า “……………………” จากหลักกฎหมายดังกล่าว ความเสียหายอันเกิดจากการแจ้งความเท็จนั้น อาจเกิดกับผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนทั่วไปก็ได้ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ ฉะนั้น การที่….นาย ก…..

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๕ วางหลักไว้ว่า “…………” จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การฟ้องเท็จที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นความเท็จในเรื่ององค์ประกอบของการกระทำความผิดอาญา

หมายเหตุ การอธิบายหลักกฎหมายกรณีนี้ ใช้ในข้อกรณีมีประเด็นหลักน้อยเพื่อแสดงภูมิรู้ในแง่วิชาการของเรา หากข้อสอบมีประเด็นมากเกินไป อาจใช้วิธีวินิจฉัยไปแล้วอธิบายไปก็ได้ แล้วแต่ความถนัดและเวลาที่มี
____________________________________

๓) “ดึงข้อเท็จจริงออกมา”
หมายถึง ให้เลือกเอาเฉพาะข้อเท็จจริงที่จะวินิจฉัยมาเขียนเท่านั้น อย่าไปลอกคำถามมาเขียนซ้ำอีก เพราะมันจะทำให้คุณเขียนไม่ทัน (การลอกคำถามซ้ำเป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้สอบเขียนข้อสอบไม่ทันภายในเวลากำหนด)

เมื่อดึงข้อเท็จจริงออกมาแล้ว ให้ปรับเข้ากับหลักกฎหมายที่อธิบายไป โดยไม่ต้องอธิบายซ้ำ

ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๔ บัญญัติไว้ว่า “…………………………….” การที่เจ้าของรวมจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ไปจากเจ้าของรวมคนอื่นนั้น จะต้องได้ความว่าเจ้าของรวมผู้ลักมิได้ครอบครองทรัพย์อยู่ในขณะที่ลัก หากแต่ทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรวมคนอื่น และเอาไปจากการครอบครองของผู้นั้น และมาตรา ๘๔ วางหลักไว้ว่า “………………………….” การใช้ที่จะเป็นความผิดฐานผู้ใช้นั้น ต้องเป็นการใช้ให้ผู้อื่นไปกระทำความผิด

จากปัญหา การที่นาย ก. ซึ่งเป็นทายาทนาย ข. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับนาย ค. และเป็นผู้ครอบครองหอยแครงร่วมอยู่ด้วย ใช้นาย ง. ไปตักหอยแครงซึ่งอยู่ในความครอบครองของตนเอง การกระทำของนาย ก. จึงไม่มีความผิดฐานใช้บุคคลอื่นลักทรัพย์

(จะเห็นว่าเมื่อเราให้อธิบายเหตุผลของหลักกฎหมายแล้ว ตอนปรับข้อเท็จจริง เราไม่ต้องให้เหตุผลซ้ำอีก ให้ปรับข้อเท็จจริงได้เลย และข้อเท็จจริงที่จะยกมาก็จะสั้นมากๆ ทำให้เหลือเวลาไปยังข้ออื่นๆ แอบกระซิบนิดนึงว่านักกฎหมายโนเนมใช้วิธีนี้มาตลอดทั้งในระดับเนติฯ และผู้ช่วยฯ เพราะเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ในการเขียนคำพิพากษา เมื่อกรรมการอ่านแล้วจะเห็นภูมิรู้ของผู้ตอบได้)
ข้อสำคัญคือ ถ้าเราไม่สามารถให้อธิบายเหตุผลก่อนปรับข้อเท็จจริงได้ ก็ให้วางหลักกฎหมายแล้วปรับข้อเท็จจริงไปได้เลย แล้วให้เหตุผลประกอบตอนวินิจฉัย

_______________________________

๔) “สรุปปัญหาตามที่ถาม”

เมื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว อย่าลืมสรุปตามที่เขาถามด้วย เช่น จากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การกระทำของนาย ก. เป็นความผิด ส่วนนาย ข. ไม่เป็นความผิด หรือจากเหตุผลที่ได้วินิจมาแล้ว ข้อต่อสู้ของนาย ก. ฟังขึ้น ส่วนข้อต่อสู้ของนาย ข. ฟังไม่ขึ้น
________

วิธีตอบสรุปสั้นๆ ได้แค่นี้ครับ

นอกจากนี้

แต่ความจริงยังมีรายละเอียดอีกมาก ซึ่งมีผู้ที่เขียน “วิธีการตอบข้อสอบ” ได้ดีกว่านักกฎหมายโนเนมหลายเท่านัก เช่น ท่านฐิติมา แซ่เตีย ผู้ช่วยผู้พิพากษา หรือท่านลัดดาวรรณ หลวงอาจ โดยเฉพาะของท่านฐิติมานั้น เขียนได้สมบูรณ์แบบมากในเรื่องการเตรียมตัว การตอบข้อสอบ แนะนำให้หาอ่านครับ เทคนิคพวกนี้มันสอนกันได้ เมื่อเราเรียนรู้จากท่านที่ผ่านประสบการณ์มาแล้ว เราจะได้นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตัวเราเอง

 

เครดิต หลักและคำพิพากษา/กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

Facebook Comments