สวัสดีครับมิตรรักแฟนเว็บไซค์ และแฟนเพจ ทุกท่าน สำหรับผมห่างหายจากงานเขียนบทความไปนาน เพราะปลายปีที่ผ่านมา ของสำนักงานฯ หยุดงานยาวไป 1 เดือน และพักงานทนายชั่วคราว เพื่อไปเรียนติวภาษาอังกฤษ เผอิญมีสอบนิดหน่อย กลับมาทำงานใหม่ สำนวนเก่าปลายปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เคลียร์ งานใหม่ก็มา เริ่มต้นปีมามั่วไปหมดครับ วันนี้มีเวลานิดหน่อย อ่านข่าวเรื่อง ทันตแพทย์หนี ทุนมาซักพัก วันนี้เห็นข่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล จะฟ้องล้มละลาย ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ ตามลิงค์หนี้ http://www.nationtv.tv/main/content/social/378487960/ ผมเลยแนะนำสักหน่อย รวมถึงอาจารย์ที่เป็นผู้ค้ำประกัน และผุ้ค้ำประกันทั้งหลาย
เอากรณีมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อน คือในการที่ มหาวิทยาลัยมหิดล จะฟ้องล้มลายลูกหนี้ ผู้หนีทุนสักคนนะครับ ควรศึกษาข้อกฎหมายก่อนเบื้องต้นว่า ในพ.ร.บล้มละลาย มาตรา 9 นั้นบัญญัติว่า “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ (1)ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว (2)ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์คนเดียว หรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียว หรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ (3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน หรือในอนาคตก็ตาม”
ซึ่งถ้าเราพิจารณาจาก มาตรา 9 ของพ.ร.บล้มละลาย ในการทำคดีล้มละลายจริงๆ อย่างแรกต้องหาหลักฐาน ว่าลูกหนี้เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างไร ซึ่งไปพิจารณามาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ล้มละลายเป็นเรื่องข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เช่น มีการขายทรัพย์สินแบบผิดสังเกตุไหมไม่ว่าใน หรือนอกราชอาณาจักรด้วยนะ หรือมีการขาย ให้ ทรัพย์สินไปให้บุคคลใกล้ตัวของตัวลูกหนี้ไหม มีลักษณะหนี้หนีไหม หรือเหตุอื่น แต่ที่ผมเคยใช้ คือข้อสันนิษฐาน ตาม มาตรา 8 (5) “ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้”
คือก่อนอื่น กว่าจะไปขั้นล้มละลายนั้นถ้าดุ่ยๆ ไปฟ้องล้มละลายเลย คุณจะหาหลักฐานอะไรมาแสดงว่า ทพญ.ดลฤดี เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว คุณมีแต่ยอดหนี้,เอกสาร และข้อเท็จจริงที่ว่า ทพญ.ดลฤดี อยู่นอกราชอาณาจักร ไม่ได้เดินทางกลับเข้าประเทศ ข้อเท็จจริงนี้ ถ้าจะมองว่าเพียงพอไหม ผมก็มองว่าคงเพียงพอ แต่ยังไม่สุด!!! การทำคดีล้มละลาย มันต้องขยี้!!! และละเอียด เพราะผมมองว่าควรจะมี 2 ข้อสันนิษฐาน วิธีการนะครับ อย่างแรก ประชุมกันภายในก่อน เรียกนิติกร มาคุยมาประชุม กำหนดยอดหนี้ ข้อสัญญา ข้อกฎหมาย และรูปคดี และกรณีท่านเป็นมหาวิทยาลัย ผมไม่ทราบว่าท่านอยู่ในระบบ หรือนอกระบบ แต่ท่านเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ กรณีท่านน่าจะใช้บริการอัยการฟ้องคดีแพ่งได้
จากนั้น อย่างที่สอง ก็ฟ้องคดีแพ่ง ตามสัญญา และข้อเท็จจริงที่ท่านมีกับ ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ ต่อศาลที่มีเขตอำนาจเลย ถ้าเขาไม่ได้เข้าสู้คดี ทางมหาวิทยาลัยก็ดำเนินการไป จากนั้นเมื่อได้คำพิพากษาแล้ว ท่านดำเนินการสืบทรัพย์ ซึ่งแน่นอนครับ จะสืบทรัพย์ และบังคับคดีได้ ก็เป็นทรัพย์ในไทย ทรัพย์สินนอกไทยจะไปยึดก็ไม่ได้ เวลาไปตรวจพวกกรรมสิทธิ์ เพราะอัยการคงไม่ไปเองหรอกครับ ฉะนั้นคนของทางมหาวิทยาลัยต้องไป สิ่งที่ต้องเตรียมมี 1.หนังสือมอบอำนาจ 2.สำเนาคำพิพากษา 3.สำเนาหมายบังคับคดี พอท่านสืบทรัพย์ผมมั่นใจว่า เขาไม่มีทรัพย์อยู่เลย สืบให้หมดนะครับ ทั้งที่ดิน และทรัพย์พวกที่มีชื่อเขาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งแน่นอนในไทยไม่น่ามีทรัพย์สิน ไม่งั้นพวกไม่กล้าหนีใช้ทุนแน่ คราวนี้
อย่างที่สาม เอกสารการขอตรวจกรรมสิทธิ์ที่ดิน,เอกสารการขอตรวจกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ขนส่ง พวกนี้ มันจะลงบันทึกไว้ทำนองว่า”ไม่เจอทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ ของบุคคลดังกล่าว” คราวนี้ถึงจะฟ้องล้มละลายได้ครับ จะใช้บริการอัยกายได้ไหมไม่รู้ครับ แต่ใช้บริการทนายได้ ผมแนะนำตอนขั้นตอนฟ้องล้มละลาย ควรใช้ทนายความ เพราะงานมันยาวกว่านั้น กลับมาเรื่องข้อสันนิษฐานที่ผมจั่วหัวมา ตอนแรกเรื่องข้อสันนิษฐาน คราวนี้ ทางมหาวิทยาลัยมหิดล จะมีข้อสันนิษฐาน ในมือ 2 ข้อสันนิษฐาน คือ
1.ลูกหนี้ได้ออกไปอยู่นอกราชอาณาจักรก่อนแล้วไม่กลับเข้าราชอาณาจักร
2.ลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่พึงยึดมาชำระหนี้ได้
แบบนี้สวยกว่าเยอะครับ ใช้เวลาหน่อย แต่รัดกุม คราวนี้ศาลจะนัดพิจารณา ท่านก็แค่ไปตามนัดศาล หรือมีเหตุจะขอพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวก่อนก็ได้ แต่ก็ต้องไปวันนัดศาลอยู่ดี เพราะต้องทำบันทึกถ้อยคำเพื่อให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อถึงวันนัดเตรียมเอกสารให้พร้อมแล้วกันครับ เพราะถ้าฝั่ง ทพญ.ดลฤดี ไม่มาสู้คดี ศาลก็จะพิทักษ์ทรัพย์ได้เลย แต่ทั้งนี้ งานมันไม่จบแค่นี้นะครับ มันยังมีในชั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่ออีกเยอะ กว่ามีคำพิพากษาล้มละลายกันอีก
ส่วนกรณีคนค้ำประกัน ก็หาทนายครับ ท่านชำระหนี้ไปหมดแล้วก็ไล่เบี้ยเอา ใช้ไปเท่าไรบันทึกให้ดี ขอเอกสารทางมหิดลมา แล้วฟ้องไล่เบี้ยไปเลย ทำคล้ายๆกับมหาวิทยาลัย ฟ้องคดีแพ่งพร้อมๆกันเลยยิ่งดีครับ ทำคล้ายๆกับทางมหิดลทุกอย่าง แต่ตอนฟ้องล้มละลาย ก็ตกลงให้ดี ว่าใครจะเปิดหัวเป็น เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จะมหิดล หรือผู้ค้ำฟ้องก่อน เพราะแต่ละคนในตอนนั้น คือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งคู่ ผมแนะนำให้ มีเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียว ส่วนที่เหลือไปรอขอรับชำระหนี้เอา จะดูดีกว่าครับ
ผมบอกไว้ก่อนนะ ครับ การที่บุคคลคนนึงเป็นบุคคลล้มละลาย นั้นน่ากลัวมาก แค่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว เงินในบัญชีของ ทพญ.ดลฤดี ยังมีอยู่ในไทย จะถูกรื้อหมด และธุรกรรมทางการเงินในต่างประเทศอาจจะมีปัญหาไม่มากก็น้อย แต่ที่แน่ๆคุณคือบุคคลล้มละลาย ไม่ว่าคุณไปประเทศไหน คุณก็คือบุคคลล้มละลาย ขอให้โชดดีกับการเป็นบุคคลล้มละลายครับ
วันนี้ขอบทความแต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
ด้วยความเคารพท่านผู้อ่านอย่างสูง
นายวิฑูรย์ เก่งงาน
ทนายความ