Home คดีอาญา ฟ้องอย่างไร แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง

ฟ้องอย่างไร แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง

20470

แนวคำพิพากษาฎีกาในความผิดฐานต่างๆ 

– ความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์ต้องบรรยายถึงข้อความที่หมิ่นประมาท หากข้อความนั้นมิได้มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวว่าเป็นการใส่ความโจทก์ให้โจทก์เสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง โจทก์ต้องบรรยายด้วยว่าข้อความตอนใดทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างไร มิฉะนั้นเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์

– ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้บรรยายว่าจำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ เป็นฟ้องไม่สมบูรณ์
– ฟ้องที่บรรยายว่า …จำเลยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้สิทธิทางศาลโดยชอบแล้วได้รับชำระหนี้… เป็นคำฟ้องที่มีความหมายชัดเจนว่า จำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิทางศาลแล้ว
– แต่คำฟ้องที่บรรยายว่า …จำเลยกระทำทั้งที่ตระหนักดีว่าโจทก์ต้องฟ้องบังคับคดีอย่างแน่นอน… เป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำไปทั้งที่คาดหมายว่าโจทก์ต้องฟ้องบังคับคดี เป็นคำฟ้องที่มิได้ระบุว่าได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
– ความผิดฐานเบิกความเท็จ ต้องบรรยายว่าข้อความที่เป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ถ้าไม่บรรยายเป็นฟ้องไม่สมบูรณ์
– คำฟ้องไม่บรรยายว่าข้อความที่เบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นที่เข้าใจได้ในตัวว่าเป็นข้อสำคัญในคดี เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5)
– ในคดีอาญา การที่จะทราบว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร จึงต้องบรรยายด้วยว่าในคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยเบิกความเท็จนั้นมีข้อหาความผิดตามบทกฎหมายใดด้วย
– ในคดีแพ่ง ข้อสำคัญในคดีต้องเป็นข้อที่เกี่ยวกับผลการแพ้ชนะคดี และโดยที่การพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งต้องอยู่ในขอบเขตแห่งประเด็นข้อพิพาท การบรรยายฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีแพ่ง โจทก์จึงต้องบรรยายด้วยว่าประเด็นข้อพิพาทในคดีที่เบิกความเท็จเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าข้อที่จำเลยเบิกความนั้นเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร

ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ 

– ฟ้องว่าปลอมสัญญากู้เงิน โดยไม่ปรากฏข้อความว่าสัญญาที่จำเลยปลอมเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับ ซึ่งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างไรบ้าง การบรรยายฟ้องในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5)
– ความผิดฐานปล้นทรัพย์ มิได้บรรยายว่าจำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายอย่างไร เป็นฟ้องไม่สมบูรณ์
– ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ต้องบรรยายด้วยว่าได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร
– แต่ถ้าโจทก์แนบสำเนารายงานการชันสูตรบาดแผลไว้ท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องได้ระบุว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร เป็นฟ้องที่ชอบ
– ฟ้องว่าร่วมกันปลอมเอกสาร แม้ไม่บรรยายว่ากระทำการใด ด้วยวิธีใด ถือเป็นเพียงรายละเอียด
– ความผิดฐานยักยอก มิได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์อย่างไร เป็นฟ้องไม่สมบูรณ์
– ฟ้องฐานยักยอกไม่ได้บรรยายว่าเบียดบังทรัพย์ที่ครอบครอง แม้จะบรรยายว่าจำเลยกระทำโดยทุจริต แต่องค์ประกอบทั้งสองข้อมีความแตกต่างกัน เป็นฟ้องที่ไม่ครอบองค์ประกอบความผิด ไม่สมบูรณ์
– ข้อสังเกต ฟ้องระบุว่า เบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุม
ฎีกาที่ 3274/2527 บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้รับฝากเสื้อผ้าของผู้เสียหายไว้หลายรายการ ต่อมาระหว่างวันที่ 14 มีนาคม 2525 ตลอดมาจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2525 จำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเสื้อผ้าที่ได้รับฝากไว้ดังกล่าวรวม 2 รายการราคา 125,000 บาท ของผู้เสียหายไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต ดังนี้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
– สำหรับการฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแขวง หาจำต้องบรรยายว่าจำเลยกระทำการเบียดบังทรัพย์ไปอย่างไร เพราะตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ให้ศาลบันทึกข้อความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐาน หาจำต้องบันทึกไว้โดยละเอียดไม่
– บรรยายฟ้องว่าเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นฝากไว้ไป เป็นการยักยอกทรัพย์ ย่อมมีความหมายว่ามีเจตนาทุจริตอยู่ในตัว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายโดยใช้ถ้อยคำว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต ก็เป็นคำฟ้องสำหรับความผิดฐานยักยอกที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5)
– ความผิดเกี่ยวกับการกระทำโดยประมาท มิได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยประมาทอย่างใด เป็นฟ้องไม่สมบูรณ์
– ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่า เป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยประมาทแล้ว
ฎีกาที่ 1832/2534 โจทก์บรรยายฟ้องว่า ยางล้อหน้าด้านขวามือของรถยนต์ที่จำเลยขับอยู่ในสภาพเก่า และบรรยายว่าจำเลยขับรถลงเนินด้วยความเร็วสูงนั้น เป็นการบรรยายฟ้องประกอบข้อหาที่จำเลยขับรถด้วยความประมาท ฟ้องโจทก์ได้บรรยายพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) แล้ว แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ายางล้อหน้าด้านขวาของรถยนต์ที่จำเลยขับมีสภาพยางเก่าอย่างไรฟ้องโจทก์ก็สมบูรณ์
– ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร ไม่ต้องบรรยายว่าจำเลยกระทำอนาจารผู้เยาว์อย่างไร ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์
– ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 220 ต้องระบุด้วยว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของบุคคลอื่นด้วย
– ฟ้องว่าจำเลยพาอาวุธปืนไปที่ขนำนากุ้ง หมู่ที่ 3 และระบุตำบล อำเภอ และจังหวัด เป็นฟ้องที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นการพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ
– ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 มีองค์ประกอบ
ความผิดว่าต้องเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงต้องบรรยายข้อเท็จจริงในองค์ประกอบดังกล่าวด้วย
– การบรรยายฟ้องอาจใช้ถ้อยคำตามกฎหมายว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้ไม่ได้ระบุว่าเป็นหนี้ค่าอะไรและบังคับได้ตามกฎหมาย ก็เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
– แต่ถ้าบรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้โดยมิได้ระบุว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วยนั้น เป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5)
ฎีกาที่ 2517/2540 การที่ผู้ออกเช็คจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 นั้น คำฟ้องโจทก์ต้องบรรยายแสดงถึงการกระทำของจำเลยอันเป็นองค์ประกอบความผิดสำคัญเบื้องต้นว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้ให้ครบถ้วนชัดแจ้ง คงบรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แต่มิได้ระบุให้ชัดว่าเป็นหนี้อะไร บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่เพียงใด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีสัญญากู้ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสี่แนบท้ายฟ้องแต่ประการใด จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่อาจฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษตามฟ้องได้ ต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง
ข้อสังเกต เรื่องนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เฉยๆ ไม่ได้ระบุว่าเป็นหนี้ค่าอะไร ถ้าระบุว่าชำระหนี้ค่าอะไรมาด้วย เช่น ระบุว่าจำเลยออกเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ ดังนี้ แม้ไม่ได้ระบุว่าเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะคำว่าชำระหนี้ค่าสินค้าย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย
ฎีกาที่ 7262/2540 การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าสินค้า ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องที่แสดงว่าจำเลยออกเช็คนั้นเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
– แต่ถ้าเป็นเรื่องออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่ได้ระบุด้วยว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ
– บรรยายฟ้องว่าออกเช็คชำระหนี้เงินยืมซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เป็นฟ้องที่ชอบด้วยมาตรา 158(5) ไม่จำต้องบรรยายว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าวมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยหรือไม่
– บรรยายฟ้องว่าออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ โดยมิได้ระบุว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้จะแนบสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้มาด้วย ก็เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เพราะการรับสภาพหนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่
– การบรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ในมูลหนี้อะไร และเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายก็เพียงพอแล้ว ไม่จำต้องบรรยายหรือแนบสัญญาซื้อขายมาพร้อมกับฟ้อง

ความผิดฐานฉ้อโกง

– คำฟ้องที่มิได้ระบุคำว่า “โดยทุจริต” แต่ได้บรรยายข้อเท็จจริงที่มีความหมายดังกล่าวแล้ว ก็ใช้ได้
– ความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระบุว่าสิ่งที่จะเปิดเผยนั้นเป็นความลับ และการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย มิเช่นนั้น เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด
เครดิต นคร ธรรมราช

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

 

Facebook Comments