Home คดีอาญา เจ้าหนี้เงินกู้ กรอกข้อความในสัญญาไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้วนำมาฟ้องคดี ถือเป็นการละเมิดและปลอมเอกสารหรือไม่

เจ้าหนี้เงินกู้ กรอกข้อความในสัญญาไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้วนำมาฟ้องคดี ถือเป็นการละเมิดและปลอมเอกสารหรือไม่

31377

คำถาม

เจ้าหนี้เงินกู้ กรอกข้อความในสัญญาไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้วนำมาฟ้องคดี ถือเป็นการละเมิดและปลอมเอกสารหรือไม่

         ย่อสั้น

คดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงมีประเด็นเพียงว่าโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญากู้เงินหรือไม่ ส่วนคดีหลังโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจงใจฟ้องหรือนำสืบในคดีแรกด้วยสัญญากู้เงินปลอมทำให้โจทก์เสียหาย คดีหลังจึงมีประเด็นว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

จำเลยปลอมสัญญากู้เงินใช้เป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ และนำสืบสัญญากู้เงินปลอมนั้นจนศาลรับฟังและพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย เป็นการทำให้โจทก์เสียหายและเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

การที่จำเลยต้องชำระเงินที่ได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนแก่โจทก์เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง

       ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 216,919.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะอายัดเงินเดือนและเงินโบนัสของโจทก์ในอนาคตพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จะถูกอายัดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 180,326.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557) และให้จำเลยชำระเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้และที่จะอายัดต่อไปในอนาคตพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ส่งมาตามอายัดในแต่ละครั้งนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินที่อายัดนั้นเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 10,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลล่างและตามสำนวนคดีนี้ว่า โจทก์เป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประจำอยู่ที่ฝ่ายจัดการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จำเลยมีอาชีพออกเงินให้คนทั่วไปกู้ยืม ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์กับจำเลยฟ้องร้องกันมาแล้ว 4 คดี กล่าวคือ คดีแรก จำเลยฟ้องโจทก์กับนางจุฑาทิพ ต่อศาลชั้นต้น (ศาลแขวงลำปาง) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 ว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 โจทก์กับนางจุฑาทิพร่วมกันกู้ยืมเงินจำเลย 130,000 บาท ยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ครบกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2544 หลังกู้ยืมได้ชำระเงินเพียง 10,000 บาท ครบกำหนดชำระค้างเงินต้น 120,000 บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 6,000 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 126,000 บาท ขอให้โจทก์และนางจุฑาทิพชำระเงิน 126,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์และนางจุฑาทิพขาดนัดยื่นคำให้การ ชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบโดยจำเลยเบิกความและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้เงินต่อศาลชั้นต้น

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544 ศาลชั้นต้นพิพากษาในวันเดียวกันให้โจทก์และนางจุฑาทิพร่วมกันชำระเงินแก่จำเลยตามฟ้องตามคดีหมายเลขดำที่ 1322/2544 หมายเลขแดงที่ 1424/2544 ของศาลชั้นต้น ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ คดีจึงเป็นที่สุด ต่อมามีผู้กู้หลายรายร้องเรียนต่อกองบังคับการปราบปรามว่าจำเลยให้กู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและให้ผู้กู้ลงชื่อในสัญญากู้เงินโดยมิกรอกข้อความ เจ้าพนักงานตำรวจค้นบ้านจำเลยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 พบหนังสือสัญญากู้เงินที่ลงชื่อแต่ผู้กู้โดยมิกรอกข้อความจำนวนมากและพบเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก คดีที่สอง โจทก์กับนางจุฑาทิพฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 โดยฟ้องเป็นคดีอาญาว่า หนังสือสัญญากู้เงินตามคดีแรกเป็นเอกสารปลอม และการที่จำเลยเบิกความและอ้างส่งหนังสือสัญญากู้เงินคดีแรกเป็นการเบิกความอันเป็นเท็จ นำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับนางจุฑาทิพกู้ยืมเงินจำเลยเพียง 15,000 บาท โจทก์กับนางจุฑาทิพเพียงแต่ลงชื่อช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้เงินโดยมิได้มีการกรอกข้อความ จำเลยกรอกข้อความภายหลังเป็นว่ากู้ยืมเงินจำเลย 130,000 บาท เป็นการปลอมหนังสือสัญญากู้เงิน ที่จำเลยเบิกความ นำสืบและแสดงหนังสือสัญญากู้เงิน เป็นการใช้หนังสือสัญญากู้เงินปลอม เบิกความอันเป็นเท็จ นำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก 2 ปี ฐานเบิกความอันเป็นเท็จ นำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นฎีกาที่เมื่อพิจารณาฎีกาทั้งฉบับแล้วกรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจาก

สารบบความ ศาลฎีกาได้อ่านคำสั่งศาลฎีกานี้กับได้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 451/2547 หมายเลขแดงที่ 1006/2548 ของศาลจังหวัดลำปาง คดีที่สาม จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ขอให้โจทก์ล้มละลาย โดยฟ้องหลังจากอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดีที่สองเพียงสามเดือนเศษ ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องตามคดีหมายเลขดำที่ ล.11765/2552 ของศาลล้มละลายกลาง และคดีที่สี่ โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 โดยฟ้องระหว่างคดีที่สองอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาว่า การกระทำของจำเลยตามคดีแรกทำให้โจทก์ต้องฟ้องคดีที่สอง ในการฟ้องคดีที่สองโจทก์ต้องเสียค่าจ้างทนายความ 100,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักทนายความในการเดินทางไปว่าความ 88,500 บาท และการที่มีการประกาศหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องล้มละลายคดีที่สามทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงคิดเป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 288,500 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน 288,500 บาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาไม่กำหนดค่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักทนายความให้ ส่วนค่าเสียหายต่อชื่อเสียงศาลชั้นต้นกำหนดให้ 30,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นกำหนดให้ 50,000 บาท คดีเป็นที่สุดชั้นอุทธรณ์ตามคดีหมายเลขดำที่ 240/2553 หมายเลขแดงที่ 55/2554 ของศาลชั้นต้น สำหรับคดีนี้เป็นการฟ้องร้องกันเป็นคดีที่ห้า โดยหลังจากอ่านคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกาและออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 แล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติด้วยว่า หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแรกให้โจทก์กับนางจุฑาทิพชำระเงินแก่จำเลยแล้ว จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนและเงินโบนัสของโจทก์ไปยังต้นสังกัดของโจทก์ ต้นสังกัดของโจทก์ส่งเงินที่อายัดมายังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ถึงกันยายน 2557 รวมเป็นเงิน 216,919.41 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินแก่จำเลยไปแล้วรวม 180,326.23 บาท นอกจากนี้อาจยังมีเงินที่ต้นสังกัดของโจทก์ส่งมายังเจ้าพนักงานบังคับคดีอีกส่วนหนึ่ง ต่อมาศาลชั้นต้นคดีแรกมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนจนกว่าคดีที่ห้านี้จะเป็นที่สุด

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันหรือฟ้องซ้ำกับคดีแรกหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยตามหนังสือสัญญากู้เงินเมื่อโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีมีประเด็นเพียงว่าโจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามหนังสือสัญญากู้เงินหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าหนังสือสัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอมหรือจำเลยเป็นผู้ทำปลอมหรือไม่ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียว โดยพิพากษาให้จำเลยชนะคดี คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมผูกพันโจทก์จำเลยนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษาในคดีแรกนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีของโจทก์ มาตรา 199 ตรี บัญญัติทางแก้เอาไว้เพื่อมิให้คู่ความรื้อร้องฟ้องกันในเรื่องเดียวกันหรือประเด็นเกี่ยวพันกันอีก โดยให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ และเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีแรกจึงเป็นที่สุด ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ย่อมยังคงผูกพันโจทก์จำเลยอยู่ การที่โจทก์มาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรก ส่วนโจทก์แก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 นั้น เห็นว่า จริงอยู่แม้คำพิพากษาผูกพันคู่ความนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย แต่หากปรากฏภายหลังว่า คู่ความฝ่ายใดจงใจฟ้องหรือนำสืบด้วยพยานหลักฐานที่ผิดกฎหมายจนศาลรับฟังและมีคำพิพากษาให้อีกฝ่ายเสียหาย คู่ความฝ่ายนั้นย่อมเป็นผู้ทำละเมิดต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการทำละเมิดนั้น คู่ความอีกฝ่ายย่อมฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการทำละเมิดได้ และคดีที่ฟ้องภายหลังมีประเด็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นทำละเมิดหรือไม่ ซึ่งคดีนี้จำเลยจงใจทำปลอมหนังสือสัญญากู้เงินใช้เป็นหลักฐานฟ้องและนำสืบหนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยทำปลอมขึ้น เป็นการฟ้องและนำสืบด้วยพยานหลักฐานที่ผิดกฎหมายอาญาอย่างชัดแจ้ง จนศาลรับฟังและมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยอันเป็นการทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่าประเด็นที่วินิจฉัยในคดีแรกไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีนี้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดีนี้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์และฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเคับคดีคืนแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นก็ออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีโดยอายัดเงินเดือนและเงินโบนัสจากต้นสังกัดของโจทก์ เป็นการดำเนินการบังคับคดีถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่จำต้องชำระเงินที่จำเลยได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดี 180,326.23 บาท คืนแก่โจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ดังวินิจฉัยมา จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การที่จำเลยต้องชำระเงินที่ได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนแก่โจทก์ก็เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 180,326.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยชำระเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้และที่จะอายัดต่อไปในอนาคตพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ส่งมาตามอายัดในแต่ละครั้งนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินที่อายัดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments