Home คดีแพ่ง การจำหน่ายชั่วคราวในคดีแพ่งมีได้หรือไม่ ใช้หลักกฎหมายใด

การจำหน่ายชั่วคราวในคดีแพ่งมีได้หรือไม่ ใช้หลักกฎหมายใด

14983

การจำหน่ายชั่วคราวในคดีแพ่งมีได้หรือไม่ ใช้หลักกฎหมายใด และสามารถขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างจำหน่ายคดีได้หรือไม่

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39
  • -ระมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับไม้โกงกางในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ห้ามจำเลยตัดฟันไม้โกงกางในที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ตัดฟันไม้โกงกางไปแล้ว 5,000 บาทแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองตัดฟันไม้โกงกางจริง แต่ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำละเมิด ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดสืบพยานโจทก์คู่ความแถลงร่วมกันว่าประเด็นที่ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย เป็นประเด็นเกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 132/2520 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง โจทก์กับพวกเป็นจำเลย ขอให้ถือเอาผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเป็นหลักในการตัดสินชี้ขาดคดีนี้โดยคู่ความไม่ติดใจสืบพยานในประเด็นข้อนี้ คงเหลือประเด็นค่าเสียหายเพียงประเด็นเดียว ขอให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วเมื่อใด ให้โจทก์แถลงเพื่อยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวภายในกำหนด 1 เดือน

นระหว่างที่ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีชั่วคราว โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยทั้งสองได้เข้าไปตัดฟันไม้โกงกางในที่พิพาทอีกประมาณ 10,000 ต้น ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองสิทธิของโจทก์ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเป็นกรณีฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254, 266 โดยให้ยึดไม้โกงกางที่จำเลยตัดฟันแล้วและห้ามมิให้จำเลยตัดฟันไม้โกงกางในที่พิพาทอีกต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองตัดฟันไม้โกงกางในที่พิพาทจนกว่าจะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด และให้ยึดไม้โกงกางที่จำเลยทั้งสองตัดฟันไปแล้วไว้ชั่วคราวโดยด่วน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(8) คำว่า “การพิจารณา” หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง และการจำหน่ายคดีนั้นหมายความถึงการที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ซึ่งมีผลทำให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนั้น

คดีนี้คู่ความร้องขอให้ศาลชั้นต้นรอฟังผลของคำพิพากษาในคดีอื่นเพื่ออาศัยเป็นหลักในการชี้ขาดตัดสินคดีนี้ อันเป็นการร้องขอให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39 ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว จึงมีผลเท่ากับมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไปนั่นเอง หาใช่เป็นการสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 แต่อย่างใดไม่

คดีนี้จึงยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้เริ่มการนั่งพิจารณาต่อไปในวันใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ เมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้เวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองอย่างใด ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 และมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ได้ด้วย

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

สรุปยาว

คำว่า ‘การพิจารณา’ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(8) หมายความว่า กระบวนการพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง และการจำหน่ายคดีนั้นหมายถึง การที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ซึ่งมีผลให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนั้น

การที่คู่ความร้องขอให้ศาลชั้นต้นรอฟังผลของคำพิพากษาในคดีอื่นเพื่ออาศัยเป็นหลักในการชี้ขาดตัดสินคดีนี้เป็นการร้องขอให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ชั่วคราวจึงมีผลเท่ากับมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไปนั่นเอง หาใช่เป็นการสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ไม่ คดีจึงยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้เริ่มการนั่งพิจารณาต่อไปในวันใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ดังนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอในเวลาใด ๆ ก่อนคำพิพากษาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองอย่างใด ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 และมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ได้ด้วย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments