Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ถือเป็นผู้เสียหายในคดีได้หรือไม่

มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ถือเป็นผู้เสียหายในคดีได้หรือไม่

927

มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ถือเป็นผู้เสียหายในคดีได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2546

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กฉบ ชัยนาท 20 ไปตามถนนชัยนาท-สิงห์บุรี จากจังหวัดชัยนาท มุ่งหน้าไปจังหวัดสิงห์บุรี โดยประมาทด้วยความเร็วสูงถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งหักขวา และมีนายเสลา ขับรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน จ ชัยนาท 4199 รออยู่ไหล่ทางเพื่อจะเลี้ยวตัดช่องเดินรถที่จำเลยขับ เพื่อเข้าสู่ช่องเดินรถที่จะมุ่งหน้าไปยังจังหวัดชัยนาท เมื่อจำเลยเห็นนายเสลาขับรถจักรยานยนต์ออกจากไหล่ทาง จำเลยควรใช้ความระมัดระวังโดยการชะลอความเร็วรถลง และให้สัญญาณแตรเตือนให้นายเสลาทราบว่ารถที่จำเลยขับกำลังจะแล่นผ่านมา ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่โดยจำเลยยังคงขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงไม่ให้สัญญาณแตรเตือน และนายเสลาขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวด้วยความประมาทโดยไม่หยุดรอให้รถทางตรงแล่นผ่านไปก่อน กลับขับรถตัดข้ามช่องเดินรถที่จำเลยขับ จำเลยจึงไม่สามารถบังคับรถหลบหรือหยุดรถได้ทัน จึงเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเสียหาย นายเสลาถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157

 

จำเลยให้การรับสารภาพ

 

ระหว่างพิจารณา นางแคแสด ภริยาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (ที่ถูกเป็นมาตรา 43 (4)), 157 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิยื่นคำฟ้องฎีกาหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและนายเสลา ต่างขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความประมาท นายเสลาจึงมีส่วนในการกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่านายเสลามิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยานายเสลาจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนนายเสลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5(2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นางแคแสด เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสีย ดังนี้ นางแคแสดจึงไม่มีสิทธิยื่นคำฟ้องฎีกาด้วยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของนางแคแสด”

 

พิพากษายกฎีกาของนางแคแสด

สรุป

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและ ส. (ผู้ตาย) ต่างขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทส. จึงมีส่วนในการกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่า ส. มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ป. โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของ ส. จึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทน ส. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ ป. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ ป. ไม่มีสิทธิฎีกา

Facebook Comments