Home คดีครอบครัว เหตุใดบ้าง ที่ศาลใช้เปลี่ยนแปลงหรือถอนอำนาจปกครองบุตร ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

เหตุใดบ้าง ที่ศาลใช้เปลี่ยนแปลงหรือถอนอำนาจปกครองบุตร ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

8187

ในเรื่องอำนาจปกรองบุตรแท้จริงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากและเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นอยู่มากทั้งค่าเลี้ยงดูบุตร อำนาจปกครอง การกำหนดสถานที่อยู่ ซึ่งสามารถติดตามจากบทความเก่าได้

รวมบทความเกี่ยวกับค่าเลี้ยงดูบุตร

1.ฝ่ายชายจ่ายค่าเทอมลูกแล้ว ฝ่ายหญิงมีสิทธิฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตรอีกหรือไม่ และศาลมีหลักการและวิธีคิดอย่างไร

2.การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร

3.หลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ที่ศาลใช้พิพากษาในการฟ้องกันในคดี

4.วิธีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงค่าอุปการะเลี้ยงดู บุตรหรือคู่สมรสทำได้หรือไม่

ในเรื่องอำนาจปกครองบุตรนั้น มีคำพิพากษาศาลฎีกามากมายที่ตัดสินไว้ในเรื่องดังกล่าว แต่เหนือสิ่งอื่นใด ควรพิจารณาจากหลักกฎหมายเป็นหลัก

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อตกลงในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ 200,000 บาท ที่โจทก์ต้องชำระให้จำเลย ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์เพียงผู้เดียว และจำเลยควรต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรร่วมกับโจทก์ฝ่ายละครึ่ง ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ขณะที่ผู้เยาว์เรียนในระดับประถมศึกษาเดือนละ 3,000 บาท มัธยมศึกษาเดือนละ 4,500 บาท และอุดมศึกษาเดือนละ 6,000 บาท ให้โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ส่งผู้เยาว์คืนให้จำเลย และห้ามมิให้โจทก์นำผู้เยาว์ไปจากการอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ให้โจทก์ชำระค่าเลี้ยงชีพ 200,000 บาท และค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ 6,000 บาท นับแต่เดือนมีนาคม 2555 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2572 ตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าให้จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าเลี้ยงชีพ 200,000 บาท แก่จำเลย คำฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งข้ออื่นของจำเลยให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องแย้งแก่โจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับราชการทหาร ส่วนจำเลยรับราชการครู โจทก์จำเลยเคยเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชาย ภ. ผู้เยาว์ เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2546 ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2554 โจทก์จำเลยตกลงหย่ากัน โดยทำข้อตกลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหย่าในทะเบียนหย่าว่า ให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย โจทก์จะชำระค่าเลี้ยงชีพ 200,000 บาท แก่จำเลยภายในวันที่ 30 เมษายน 2555 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์จนกว่าผู้เยาว์มีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ ก่อนจดทะเบียนหย่าโจทก์มอบเงินให้จำเลย 300,000 บาท ยกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ทรัพย์สินและเครื่องใช้ให้เป็นของจำเลย หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้วประมาณ 2 เดือน โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้หญิงคนใหม่แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่วนจำเลยก็มีสามีใหม่แล้ว จดทะเบียนสมรสกับสามีใหม่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555

ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ประเด็นค่าเลี้ยงชีพต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องฎีกาของโจทก์ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 และไม่รับฎีกาข้อนี้นั้น คำสั่งศาลชั้นต้นส่วนนี้ไม่ชอบ เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องประเด็นค่าเลี้ยงชีพอันเป็นการฟ้องตั้งสิทธิ อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง และ 248 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และ 247 แต่อย่างไรก็ตามที่โจทก์ฎีกาประเด็นนี้ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์จะต้องชำระค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงท้ายการหย่าชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ด้วยนั้น เห็นควรวินิจฉัยเสียทีเดียว เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนค่าเลี้ยงชีพที่ตกลงกับจำเลย โดยกล่าวอ้างเหตุผลมาในฟ้องว่า เป็นเพราะโจทก์มีฐานะและรายได้ลดลง ประกอบจำเลยมีสามีใหม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ที่จะต้องพึงชำระในอนาคต และมีการตกลงกันเป็นลักษณะของสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลให้จำเลยมีสิทธิเรียกร้องต่อโจทก์นับแต่วันทำสัญญา ข้ออ้างของโจทก์ไม่มีผลตามกฎหมายจะให้เพิกถอนข้อตกลงเรื่องค่าเลี้ยงชีพตามสัญญาหย่าได้ แต่โจทก์กลับอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้โดยอ้างเหตุผลว่า ก่อนจดทะเบียนหย่าโจทก์มอบเงินให้แก่จำเลย 300,000 บาท เพื่อให้จำเลยไปซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยกับบุตร แต่จำเลยนำเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวผิดข้อตกลงขอหักกลบลบหนี้กับค่าเลี้ยงชีพที่ตกลงท้ายทะเบียนหย่า ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยให้เหตุผลว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง บทบัญญัติมาตรา 225 วรรคหนึ่งดังกล่าวหมายความว่า ศาลจะต้องนำข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องหรือคำให้การและมีการนำสืบมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นเท่านั้น มาวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเป็นข้อแพ้ชนะแห่งคดี ข้อเท็จจริงดังที่โจทก์หยิบยกมาในชั้นอุทธรณ์ย่อมเป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวน ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลต้องไม่รับและไม่นำมาวินิจฉัย ศาลเยาวชนและครอบครัวต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาคดีครอบครัวด้วย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีเหตุจะเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่โจทก์อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้าย อันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า ปัจจุบันผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในวันที่ 9 เมษายน 2556 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ผู้เยาว์มาแสดงตัวต่อศาลชั้นต้น ยื่นคำแถลงและขอให้ศาลชั้นต้นสอบสวนตามบันทึกท้ายคำแถลงกับคำแถลงของผู้เยาว์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ได้ความสรุปว่า ผู้เยาว์ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข เพราะบิดาเลี้ยงดุโดยไม่มีเหตุผล และมารดากับบิดาเลี้ยงทะเลาะกันบ่อย สภาพที่พักอาศัยไม่สะดวกเพราะต้องนอนห้องเดียวกัน ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้ว ถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเองแล้วมีความรับผิดชอบต่อตนเองได้ตามสมควร สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลย ผู้เยาว์สามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอย ๆ / จำเลยมิได้โต้แย้ง ทั้งได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าหากผู้เยาว์ต้องการอยู่กับฝ่ายใดแล้วมีความสุข ก็ยินยอมให้ผู้เยาว์อยู่กับฝ่ายนั้น จำเลยสามารถรับผู้เยาว์กลับมาอยู่ได้ แต่สาเหตุที่ไม่รับกลับมาเพราะเกรงผู้เยาว์จะเสียการเรียนเนื่องจากหนังสือเรียนและเครื่องใช้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนอยู่กับโจทก์ทั้งหมด และเมื่อนับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของโจทก์มาประมาณ 4 ปีแล้ว โดยจำเลยมิได้เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรของจำเลยฝ่ายเดียวตามบันทึกข้อตกลงในทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ที่จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงไว้กับจำเลยถือได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะเปลี่ยนผู้ใช้อำนาจปกครอง เมื่อคำนึงถึงอนาคต ประโยชน์และความผาสุกของผู้เยาว์แล้ว อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลยโดยให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจกำหนดที่อยู่ของผู้เยาว์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ภ. ผู้เยาว์ ร่วมกับจำเลยโดยมีอำนาจในการกำหนดที่อยู่ของผู้เยาว์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments