Home คดีแพ่ง ที่ดินสปก ขายและสละการครอบครอง สามารถกลับมาฟ้องขับไล่ผู้ซื้อ เพราะเหตุนิติกรรมเป็นโมฆะได้หรือไม่

ที่ดินสปก ขายและสละการครอบครอง สามารถกลับมาฟ้องขับไล่ผู้ซื้อ เพราะเหตุนิติกรรมเป็นโมฆะได้หรือไม่

13177

ที่ดินสปก ขายและสละการครอบครอง สามารถกลับมาฟ้องขับไล่ผู้ซื้อ เพราะเหตุนิติกรรมเป็นโมฆะได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเลขที่ 22 อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดิน

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เลขที่ 22 อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นางสำลี มารดาจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์และปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อจากนางสำลี

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แต่อย่างไรก็ตาม ที่จำเลยนำสืบทำนองว่า เหตุที่โจทก์มีชื่อในที่ดินพิพาทเนื่องจากในปี 2527 นางสำลีมารดาจำเลยได้รับสิทธิและครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ขัดต่อข้อกำหนดการถือครองที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงขอให้โจทก์เป็นผู้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนนางสำลี ส่วนจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2533 และปลูกบ้านในที่ดินพิพาทปี 2539 โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน จำเลยมี ส.ป.ก. 4-01 มาแสดง ส่วนโจทก์และนางถนอมจิตร์ บุตรโจทก์เบิกความว่า โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2527 และในปี 2535 โจทก์อนุญาตให้นางสำลีและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท นางสำลีและจำเลยปลูกมันสำปะหลังในที่ดินพิพาทโดยแบ่งผลผลิตและให้เงินเป็นค่าตอบแทนแก่โจทก์ อันเป็นการเบิกความกล่าวอ้างข้อเท็จจริงลอย ๆ โดยไม่ปรากฏว่าตั้งแต่โจทก์ได้รับ ส.ป.ก. 4-01 ในปี 2527 โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างไรและได้ผลผลิตหรือเงินตอบแทนจากนางสำลีและจำเลยตามที่กล่าวอ้าง พยานหลักฐานจำเลยจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานโจทก์ เมื่อหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้วย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน และทางนำสืบของโจทก์และจำเลยฟังได้ว่า นางสำลีและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่นางสำลีและจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทและโอนสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่นางสำลีและจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) และฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจากนางสำลี ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ส่วนจำเลยจะได้สิทธิทำกินในที่ดินพิพาทหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อทราบ

 

สรุป

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518

หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้ว ย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน การที่ ส. มารดาจำเลยและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ ส. และจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่ ส. และจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

 

Facebook Comments