Home คดีแพ่ง สุนัขวิ่งตัดหน้ารถจนเกิดอุบัติเหตุ เจ้าของสุนัขต้องรับผิดหรือไม่

สุนัขวิ่งตัดหน้ารถจนเกิดอุบัติเหตุ เจ้าของสุนัขต้องรับผิดหรือไม่

13830

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6088/2559

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 244,166 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 144,166 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 สิงหาคม 2557) ที่ถูก (ฟ้องวันที่ 6 สิงหาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สุนัขตัวที่ก่อเหตุครั้งนี้ จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ โดยมีพยานปากนายสมชาย เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันเบิกความยืนยันว่า เห็นเหตุการณ์ขณะที่รถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับชนกับสุนัขที่วิ่งออกมาจากข้างถนนตัดหน้า โดยพยานนั่งหันหน้าไปทางถนน และในช่วงวันหยุดเคยเห็นจำเลยที่ 1 ขับรถซาเล้งพาสุนัขตัวดังกล่าวขับเที่ยวด้วยกัน หลังเกิดเหตุ สุนัขก็วิ่งเข้าไปในซอยที่บ้านของจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์รู้จักบ้านของจำเลยทั้งสอง แม้จะไม่เคยเข้าไปภายใน แต่จากพยานที่เห็นเหตุการณ์ของอุบัติเหตุครั้งนี้ เชื่อว่า สุนัขตัวที่วิ่งออกมาตัดหน้ารถของโจทก์ จำเลยทั้งสองน่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือเคยดูแล เนื่องจากจุดเกิดเหตุเกิดบริเวณตรงข้ามซอยที่เข้าบ้านของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่า เป็นสุนัขจรจัดหรือไม่มีเจ้าของ นอกจากนี้ประชาชนที่เข้าไปช่วยโจทก์ปฐมพยาบาลในเบื้องต้นขณะรถล้มก็เป็นคนบอกว่า สุนัขที่โจทก์ขับรถชนเป็นของจำเลยทั้งสอง หลังเกิดเหตุมีการนัดเจรจาเรื่องค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ไม่มายอมรับผิด ส่วนที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านปฏิเสธว่า ไม่เคยเห็นนายสมชาย เพื่อนบ้านมาก่อน ทั้ง ๆ ที่มีบ้านอยู่ติดกัน ทำให้เป็นพิรุธน่าสงสัย เพราะนายสมชาย เป็นพยานฝ่ายโจทก์ที่มาเบิกความยืนยันว่า สุนัขตัวที่ก่อเหตุ จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าที่ทราบเรื่องรถจักรยานยนต์ชนสุนัข เนื่องจากน้องสาวของจำเลยที่ 1 ที่มีบ้านอยู่ริมถนนตรงที่เกิดเหตุเป็นผู้โทรศัพท์ไปแจ้ง เพราะหากจำเลยทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกับสุนัขแล้ว น้องสาวของจำเลยที่ 1 ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแจ้งเหตุครั้งนี้ ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า สุนัขที่วิ่งตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของโจทก์เป็นสุนัขของจำเลยทั้งสอง

สำหรับปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในเหตุละเมิดหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดขี่ จูง ไล่ต้อนหรือปล่อยสัตว์ไปบนทางในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลสัตว์ต้องดูแลควบคุมมิให้สัตว์กีดขวางการจราจร การที่สุนัขของจำเลยทั้งสองวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ในระยะกระชั้นชิด จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ล้มลง เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ขับรถด้วยความเร็วสูงและไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างไร ดังนั้น เหตุละเมิดคดีนี้จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง ที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการควบคุมดูแลสุนัข เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 วรรคหนึ่ง ส่วนค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น เห็นว่า เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว และโจทก์ก็ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท

สรุป ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่ จูง ไล่ต้อนหรือปล่อยสัตว์ไปบนทางเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขจึงเป็นผู้ดูแลสัตว์จะต้องดูแลควบคุมมิให้สัตว์กีดขวางการจราจร การที่สุนัขของจำเลยทั้งสองวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ในระยะกระชั้นชิด ย่อมเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ล้ม เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงและไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างไร ดังนั้น เหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการควบคุมดูแลสุนัข เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 วรรคหนึ่ง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments