Home ทั้งหมด ฎีกาใหม่ ฟ้องเพิกถอนนิติกรรม นำสืบพยานบุคคลแทนได้หรือไม่

ฎีกาใหม่ ฟ้องเพิกถอนนิติกรรม นำสืบพยานบุคคลแทนได้หรือไม่

1261

ฎีกาใหม่ ฟ้องเพิกถอนนิติกรรม นำสืบพยานบุคคลแทนได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 41299 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนนิติกรรมคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยปราศจากภาระผูกพัน หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ 41299 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมโอนคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนดังกล่าวกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่โจทก์เสียเกินมาจำนวน 23,360 บาท ในศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่จำเลยที่ 2 เสียเกินมาจำนวน 23,360 บาท ในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2518 ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2523 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 41299 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาในระหว่างสมรส หลังจากจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินและบ้านพิพาทจากธนาคาร อ. แล้ว วันที่ 29 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทร่วมกัน วันที่ 16 กรกฎาคม 2540 จำเลยทั้งสองนำที่ดินและบ้านพิพาทจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร พ. เพื่อนำเงินที่กู้ยืมจากธนาคารไปใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2549 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน โดยบันทึกหลังทะเบียนการหย่าว่าไม่มีทรัพย์สิน วันที่ 20 มิถุนายน 2552 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 362,500 บาท และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์เพิ่มเติมอีก 50,000 บาท โดยระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินว่า ได้นำที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ยึดถือเป็นประกันหนี้เงินกู้ และจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2554 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 จำเลยทั้งสองได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคาร พ. และในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนนิติกรรมให้ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่จำเลยที่ 2 และวันที่ 26 เมษายน 2554 จำเลยที่ 2 ได้นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนนิติกรรมให้ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แก่ตนโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว โดยระบุว่าเป็นการให้ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน หลังจากนั้น วันที่ 27 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 2 ได้กู้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์และนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ เมื่อครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 1 เพิกเฉย ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ออกไปอีกถึงวันที่ 20 มีนาคม 2560 ตามที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเขียนด้วยลายมือตนเองมอบให้โจทก์ไว้ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2559 หลังทำบันทึกโจทก์ติดต่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เรื่องฐานผิดสัญญากู้ยืมเงิน และวันที่ 18 เมษายน 2560 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิพากษาตามยอม แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ก่อนคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงดอนเมือง ข้อหาโกงเจ้าหนี้เป็นคดีอาญา หมายเลขแดงที่ อ.2258/2560 อ้างว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันยักย้ายหรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเพื่อมิให้โจทก์ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนนิติกรรมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 41299 และบ้านพิพาทเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และจำเลยที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 คดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลแขวงดอนเมืองวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่เพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นถึงการเป็นหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ ทั้งการจดทะเบียนนิติกรรมให้ที่ดินและบ้านพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำก่อนที่โจทก์ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและบ้านพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์โต้แย้ง ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การขอให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์เป็นกรณีขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนในที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง กรณีไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลได้ว่านิติกรรมให้ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติกรรมให้โดยมีค่าตอบแทน มิใช่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินและบ้านพิพาทเฉพาะส่วนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ จำเลยที่ 2 เบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวน 750,000 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งสองตกลงราคาที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเงิน 2,500,000 บาท แบ่งคนละครึ่งเป็นเงิน 1,250,000 บาท จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 หักหนี้เดิมจำนวน 500,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงไปกู้เงินโดยจำนองที่ดินและบ้านพิพาทแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ได้เงินจำนวน 700,000 บาท มาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 กับมีนางพัชมน มาเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ขอให้ช่วยหาคนซื้อที่ดินและบ้านพิพาทในราคาประมาณ 2,000,000 บาท แต่ไม่สามารถหาคนซื้อได้จึงบอกพยานว่าจำเลยที่ 2 จะซื้อไว้เอง พยานได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจจำเลยที่ 1 แล้วไปสำนักงานที่ดินกับจำเลยที่ 2 ในวันจดทะเบียนโอน ทราบจากจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 อีก 700,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทกันไว้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงแนะนำให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นการให้โดยเสน่หา จำเลยที่ 2 เพียงแต่อ้างตนเองมาเบิกความประกอบใบแจ้งรายการบัญชีออมทรัพย์ธนาคารของจำเลยที่ 1 และสำเนาใบนำฝาก ว่าหลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 แล้ว จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท และ 180,000 บาท ในวันที่ 29 และ 30 มิถุนายน 2554 แต่เมื่อพิจารณาตามใบแจ้งรายการบัญชีและใบนำฝากดังกล่าวแล้ว ก็มิได้ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ฝากเงินจำนวนดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏใบนำฝากในยอดเงินนั้น ในการชำระเงินครั้งต่อมาตามที่จำเลยที่ 2 อ้างก็เป็นเวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี มีการนำเงินเข้าฝากเพียง 4,000 บาท ต่อจากนั้นก็เป็นเงินมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งผิดวิสัยของการซื้อขายกันจริงที่จะต้องมีการชำระเงินในจำนวนและเวลาที่แน่นอน การชำระเงินตามข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวน่าจะเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาเพื่อช่วยเหลือในฐานะที่เคยเป็นสามีภริยากันดังที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้ชอบแล้ว ส่วนนางพัชมนก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่รับฟังข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองมาจากบุคคลอื่นเท่านั้น ประกอบกับในขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างใด ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยที่ 2 รับเงินกู้มาเต็มจำนวนแล้วจะต้องผ่อนชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 อีก เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนให้เห็นถึงการกำหนดราคาที่ดินและบ้านพิพาทและเรื่องการชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 ที่ชัดเจน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่านิติกรรมให้ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติกรรมให้โดยมีค่าตอบแทน ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น เมื่อกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา เพียงแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้เป็นผู้รู้ว่าตนเป็นหนี้โจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่โจทก์จะขอเพิกถอนนิติกรรมให้อันเป็นการฉ้อฉลได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เชื่อตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และฟังว่านิติกรรมให้ที่ดินและบ้านพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 มิใช่การให้โดยเสน่หาและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนระหว่างจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามเดิมโดยไม่จำต้องบังคับจำเลยทั้งสองตามคำขอดังกล่าวของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองนั้นเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลที่โจทก์ชำระเกินมา 23,360 บาท ในศาลชั้นต้นแก่โจทก์และคืนค่าขึ้นศาลที่จำเลยที่ 2 ชำระเกินมา 23,360 บาท ในชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนิติกรรมให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลได้ว่าเป็นนิติกรรมให้โดยมีค่าตอบแทน

Facebook Comments