Home คดีอาญา ทนายความโจทก์ลงชื่อแทนในท้ายฟ้องอาญา โดยตัวโจทก์ไม่ได้ลง ถือเป็นฟ้องไม่ชอบหรือไม่ สามารถขอศาลให้แก้ไขได้หรือไม่

ทนายความโจทก์ลงชื่อแทนในท้ายฟ้องอาญา โดยตัวโจทก์ไม่ได้ลง ถือเป็นฟ้องไม่ชอบหรือไม่ สามารถขอศาลให้แก้ไขได้หรือไม่

8538

ทนายความโจทก์ลงชื่อแทนในท้ายฟ้องอาญา โดยตัวโจทก์ไม่ได้ลง ถือเป็นฟ้องไม่ชอบหรือไม่ สามารถขอศาลให้แก้ไขได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2559

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 2 กระทง คงจำคุก 2 เดือน และไม่ปรับ จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับมาเพียงประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสมยศ หรือนางฐิตาภา กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ แม้ต่อมาจะบรรยายว่า โจทก์โดยนางฐิติภา มอบอำนาจให้นางสาวดรุณีฟ้องและดำเนินคดีแทนก็ตาม แต่เมื่อนางสาวดรุณีมาเบิกความเป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้อ้างส่งหนังสือมอบอำนาจดำเนินคดีเป็นหลักฐานว่า บริษัทโจทก์โดยนางฐิตาภา กรรมการผู้มีอำนาจ ขอมอบอำนาจให้นางสาวดรุณีดำเนินคดีแทน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่านางฐิตาภา กับนางฐิติภา ที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง และเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า โจทก์พิมพ์ชื่อ “นางฐิตาภา” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเป็น “นางฐิติภา” อันเป็นข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย ถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางสาวดรุณีฟ้องและดำเนินคดีแทนโดยชอบแล้ว ไม่ทำให้อำนาจฟ้องคดีของโจทก์เสียไป ส่วนที่ท้ายฟ้องเดิมทนายโจทก์ลงชื่อไว้ในท้ายฟ้องในฐานะโจทก์ก็เป็นเพียงฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์เท่านั้น อันเป็นฟ้องที่มิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องเดิมเสียไปดังที่จำเลยฎีกา และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอส่งคำขอท้ายคำฟ้องอาญาที่โจทก์โดยนางสาวดรุณี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2558 แทนคำขอท้ายฟ้องเดิม โดยอ้างว่าเป็นความผิดหลงเผอเรอของทนายโจทก์นั้น ก็พอแปลได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง และกรณีถือว่ามีเหตุอันควรที่จะแก้ฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องฉบับดังกล่าวเข้ามาในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใด ถือว่าฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เช็คพิพาท 2 ฉบับ มีจำนวนเงินรวมกัน 200,000 บาท ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยนำเงิน 3,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ และระหว่างนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยนำเงิน 197,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์อีก อันเป็นการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

สรุป

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มี ส. หรือนางฐิตาภา กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ แม้ต่อมาจะบรรยายว่า โจทก์โดย นางฐิติภา มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนก็ตาม แต่เมื่อ ด. เบิกความเป็นพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้อ้างส่งหนังสือมอบอำนาจดำเนินคดีเป็นหลักฐานว่า บริษัทโจทก์โดยนางฐิตาภา กรรมการผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้ ด. ดำเนินคดีแทน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่านางฐิตาภา กับนางฐิติภา ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องเป็นบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง และเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า โจทก์พิมพ์ชื่อ “นางฐิตาภา” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเป็น “นางฐิติภา” อันเป็นข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อยถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโดยชอบแล้ว ไม่ทำให้อำนาจฟ้องคดีของโจทก์เสียไป

ส่วนที่ท้ายฟ้องเดิมทนายโจทก์ลงชื่อไว้ในท้ายฟ้องในฐานะโจทก์ก็เป็นเพียงฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์เท่านั้น อันเป็นฟ้องที่มิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องเดิมเสียไป โจทก์ยื่นคำร้องขอส่งคำขอท้ายฟ้องอาญาที่โจทก์โดย ด. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์แทนคำขอท้ายฟ้องเดิม โดยอ้างว่าเป็นความผิดหลงเผอเรอของทนายโจทก์นั้นก็พอแปลได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง และกรณีถือว่ามีเหตุอันควรที่จะแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับดังกล่าวเข้ามาในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ถือว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

สรุปสั้น ไม่ถือเป็นฟ้องที่มิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องเดิมเสียไป

มีปํญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 lineID @lawyers.in.th

Facebook Comments