Home ทั้งหมด ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่ง เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่ง เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

3535

ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่ง เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4722/2562

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินทั้ง 57 รายการ พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51

ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว

ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรายการที่ 1, 2, 34, 35, 36, 37, 38, 39, 40, 41, 42, 43, 44, 45, 46, 47, 48, 52, 53, 54, 55 และ 56 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินพร้อมดอกผลที่จะเกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 ส่วนทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินรายการอื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทรัพย์สินรายการที่ 3 ถึง 31 พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาข้อ 2 ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรหัวไทรจับกุมนายผดุงศักดิ์ กับนายสุทธิพงศ์ ในข้อหาร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือกระทำการใดอันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย กับข้อหาค้ามนุษย์ และมีหนังสือถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินบุคคลที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลการทำธุรกรรมเบื้องต้นของเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ดังกล่าว ตามคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ ต.6/2558 และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ตามคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ ย. 41/2558 และ ย.48/2558 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2558 ศาลจังหวัดนาทวีออกหมายจับผู้คัดค้านที่ 3 ฐานร่วมกันนำหรือพาบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมาเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และเรียกค่าไถ่ ผู้คัดค้านที่ 3 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน คดีอยู่ระหว่างพิจารณา พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบข้อมูลการทำธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 แล้วพบว่าได้ทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยและมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มของนายผดุงศักดิ์กับพวก น่าเชื่อว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์เป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาข้อมูลของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้วเชื่อว่าทรัพย์สินทั้ง 57 รายการ ตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า การรับฟังพยานหลักฐานของศาลเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานเป็นการสันนิษฐานอันเป็นผลร้ายแก่ผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นการปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 1 เสมือนผู้กระทำความผิดเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ แต่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามหมวด 6 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นมาตรการในทางแพ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมและทำลายแรงจูงใจสำคัญในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูง ทั้งเป็นมาตรการของรัฐที่มุ่งบังคับเอากับเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องหรือได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดทั้งดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล แต่เป็นการใช้มาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะในการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมและประโยชน์สาธารณะ และศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 40 – 41/2546 ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามหมวด 6 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง เมื่อผู้คัดค้านที่ 3 ให้การแต่เพียงว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้บรรยายว่าผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดต่อกฎหมายอันเป็นความผิดมูลฐานอย่างไร โดยมิได้ให้เหตุผลว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมอย่างไร จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ประการต่อมาว่า มีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อันเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องมีพันตำรวจเอกคำรณ พันตำรวจเอกเชิดพงษ์ พันเอกจตุพร พันตำรวจโทเสกสิทธิ์ และนางสาวพัชรียา เป็นพยานเบิกความว่า การกระทำความผิดของเครือข่ายค้ามนุษย์เริ่มตั้งแต่ปี 2556 โดยมีการแบ่งเป็นเครือข่ายและแบ่งหน้าที่กันทำเป็นกลุ่ม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 พันตำรวจโทเสกสิทธิ์กับพวกทำการจับกุมเรือบัรธาดา ซึ่งเป็นเรือที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เรือตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ผู้คัดค้านที่ 3 มาพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสตูลอ้างว่าเรือดังกล่าวเป็นของตนและแจ้งว่าซื้อเรือมาโดยถูกต้องตามกฎหมายและอยู่ระหว่างขออนุญาตจดทะเบียนการใช้ ขณะจับกุมเรือลำดังกล่าวมีสภาพดัดแปลง มีช่องสำหรับเก็บสัมภาระด้านล่าง สามารถบรรทุกคนได้ประมาณ 100 คน จากการสืบสวนทราบว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีเรืออีก 3 ลำ ชื่อ ลาลีน่า 1 ลาลีน่า 2 และลาลีน่า 3 โดยใช้ชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ครอบครอง ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นหัวหน้าทีมที่จังหวัดสตูล ใช้เรือดังกล่าวไปรับชาวโรฮีนจาจากเรือใหญ่ในน่านน้ำสากลเพื่อนำมาส่งที่บ้านบ่อเจ็ดลูก หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยมีคอกกักกันชาวโรฮีนจา ซึ่งนายอาดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 เป็นผู้ดูแล เมื่อประมาณต้นปี 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำสืบทราบว่า ผู้คัดค้านที่ 3 มีแค้มป์ชาวโรฮีนจาบนเกาะตะรุเตา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำเข้าจับกุมชาวโรฮีนจาจากแค้มป์ดังกล่าวได้ประมาณ 100 คน ผู้คัดค้านที่ 3 มาขอเจรจากับชุดจับกุมเพื่อให้ปล่อยตัวชาวโรฮีนจาทั้งหมดแต่ชุดจับกุมไม่ยินยอม ต่อมาศาลจังหวัดนาทวีออกหมายจับผู้คัดค้านที่ 3 ในความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เห็นว่า พันตำรวจเอกคำรณ พันตำรวจเอกเชิดพงษ์ พันเอกจตุพร พันตำรวจโทเสกสิทธิ์ และนางสาวพัชรียา ต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการไปตามหน้าที่ ทั้งเป็นการสนธิกำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน เชื่อได้ว่าพยานผู้ร้องเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ตนได้รับรู้มา ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้ร้อง ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า มีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นและผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ประการสุดท้ายว่า ทรัพย์สินรายการที่ 3 ถึง 31 ของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ว่ามิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า มาตรา 51 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน?แห่งมาตรานี้ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์?สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์?กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์?สินดังกล่าวเป็นทรัพย์?สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได?รับโอนมาโดยไม?สุจริต แล้วแต่กรณี” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และผู้ร้องนำสืบว่าทรัพย์สินรายการที่ 3 ถึง 31 เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาในระหว่างที่มีพฤติการณ์กระทำความผิด จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 3 มีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว โดยศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลในการค้นหาเหตุผลเพื่อให้ได้ข้อยุติ

ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกาว่า ทรัพย์สินทั้ง 29 รายการนั้นเป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานนั้น เห็นว่า แม้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 จะมีนายนิคม นายพนัฐ และนายจีระวุธ มาเบิกความว่าได้ว่าจ้างผู้คัดค้านที่ 3 จัดเก็บรังนกนางแอ่น แต่ผู้คัดค้านที่ 3 ก็ไม่มีหลักฐานการจ่ายหรือรับเงินค่าจ้าง หรือรายได้จากการซื้อขายรังนกมาแสดง ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ไม่เคยยื่นรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายได้ในส่วนนี้ และเบิกความรับว่าไม่ได้นำบัญชีธนาคารที่แสดงรายรับจากกิจการดังกล่าวมาแสดงต่อศาล จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนรายได้จากกิจการบ้านเช่า เห็นว่า รายการเงินได้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านที่ 3 นำสืบ แม้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 จะมีบัญชีรายรับค่าเช่าบ้านและสัญญาเช่ามาแสดง แต่เอกสารดังกล่าวก็จัดทำขึ้นโดยผู้คัดค้านที่ 3 เอง จึงมีน้ำหนักน้อย ทั้งรายได้ส่วนนี้ไม่น่าจะเพียงพอต่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวทั้ง 29 รายการ สำหรับรายได้จากการซื้อขายที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะในปี 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2558 เห็นว่า ที่ดินที่ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างว่ามีการซื้อขายกันส่วนใหญ่เป็นที่ดินมือเปล่า ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ดิน ล้วนแต่เป็นเอกสารที่ทำขึ้นเองระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 และผู้ซื้อแต่ละราย จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือ ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ไม่มีหลักฐานการรับจ่ายเงินค่าที่ดินมาแสดงว่ามีรายได้จากการขายที่ดินตามที่ผู้คัดค้านที่ 3 กล่าวอ้าง ผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความว่าในการซื้อขายที่ดินจะชำระเป็นเงินสด แต่ที่ดินมีมูลค่าสูงมาก จึงเป็นพิรุธน่าสงสัยว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีรายได้จากการซื้อขายที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะอย่างที่นำสืบจริงหรือไม่ ส่วนรายได้จากการจับสัตว์น้ำ การขายน้ำยางพารา และกิจการโรงแรม ผู้คัดค้านที่ 3 ก็ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านที่ 3 นำสืบมาจึงไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ กรณีรับฟังได้ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ถูกยึดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ทรัพย์สินรายการที่ 3 ถึง 31 ของผู้คัดค้านที่ 3 ตามคำร้องของผู้ร้องตกเป็นของแผ่นดินนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

เรื่องฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง ผู้คัดค้านที่ 3 ให้การว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม โดยมิได้ให้เหตุผลว่าเคลือบคลุมอย่างไร เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ทั้งศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 3 มีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

Facebook Comments