คำพิพากษาฎีกาที่ 1137/2559

การเบิกความของ ธ. ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับลายมือชื่อของ อ. เป็นการเบิกความไปตามความเห็นหรือความรู้สึกของ ธ. ในลายมือชื่อของ อ. ตามที่เห็นเท่านั้น กรณีไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าลายมือชื่อที่ ธ. เห็นตามเอกสารที่ทนายจำเลยที่ 3 นำมาถามค้านนั้น เป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของ อ. หรือเป็นลายมือชื่อปลอม และความเห็นของ ธ. เป็นความเห็นในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมิใช่เช็คพิพาทในคดีนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์รับรู้ถึงการใช้ลายมือชื่อปลอมของ อ. ในเช็คพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามฟ้องได้
การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์เป็นผู้เก็บแบบพิมพ์เช็คและตราประทับของโจทก์ไว้ แล้วจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาแบบพิมพ์เช็คพิพาทที่มีการปลอมลายมือชื่อของ อ. ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ถึง 43 ฉบับ ในช่วงระยะเวลานาน 3 ปี เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาควบคุมดูแลแบบพิมพ์เช็คพิพาทและตราประทับของโจทก์ รวมทั้งไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีการนำแบบพิมพ์เช็คพิพาทไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้วใช้ตราประทับของโจทก์ประทับลงในเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินจากจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 3 ได้ส่งรายการเดินบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ให้แก่โจทก์ทราบทุกเดือน หากโจทก์มีมาตรการตรวจสอบที่ดี ก็จะทราบถึงความผิดปกติในการใช้เช็คเบิกเงินออกจากบัญชีของโจทก์และสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่านี้ แต่โจทก์กลับปล่อยปละไม่ตรวจสอบจนเวลาล่วงมาถึง 3 ปี จึงทราบเหตุละเมิดดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้น การกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442
สรุป

หนี้ที่จำเลยที่ 1 (ภริยา)ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นมูลหนี้ละเมิดที่ภริยากระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวเป็นการเฉพาะตัว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 (สามี)ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และมูลหนี้ละเมิดไม่อาจให้สัตยาบันได้ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะนำเงินที่ได้จากการทำละเมิดต่อโจทก์มาซื้อทรัพย์สินหรือฝากไว้ในธนาคารระบุชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมกัน ก็มิใช่หนี้ร่วมตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1490 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายไผ่ 095-781-9477
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716

Facebook Comments