Home คดีอาญา อู่ซ่อมทำเลขตัวถังรถยนต์หายจากการซ่อม ถือเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ บริษัทประกันภัยต้องร่วมรับผิดหรือไม่

อู่ซ่อมทำเลขตัวถังรถยนต์หายจากการซ่อม ถือเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ บริษัทประกันภัยต้องร่วมรับผิดหรือไม่

2809

อู่ซ่อมทำเลขตัวถังรถยนต์หายจากการซ่อม ถือเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ บริษัทประกันภัยต้องร่วมรับผิดหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 448,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฮ – 8684 กรุงเทพมหานคร เลขตัวรถ RA 31 – A 13448 ซึ่งอยู่ที่กระจังหน้าตอนในของส่วนหัวของรถ ไปจากบริษัทซิตี้ลิสซิ่ง จำกัด เป็นเงินค่าเช่าซื้อ 499,608 บาท กำหนดชำระค่าเช่าซื้อ 36 งวด วันเดียวกันนั้นเองโจทก์นำรถที่เช่าซื้อนี้ไปทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถ 340,000 บาท ต่อมาซึ่งเป็นเวลาหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ 13 วัน และอยู่ในระยะเวลาประกันภัย โจทก์ขับรถที่เช่าซื้อชนรถอื่นรถที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายส่วนหัวของรถ จำเลยที่ 2 นำรถที่เช่าซื้อไปซ่อมแซมที่อู่ทอม มอเตอร์ สปอร์ต ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีนางจรูญศรี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งด้วย จำเลยที่ 1 ตรวจสอบและทำใบเสนอราคาต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 สั่งอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมในราคา 210,000 บาท จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมจนเสร็จ โจทก์รับรถที่เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จ่ายค่าซ่อมแซมแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 210,000 บาท ต่อมาโจทก์นำรถที่เช่าซื้อไปตรวจสภาพที่สำนักทะเบียนและภาษีรถกรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก เพื่อเสียภาษีประจำปีรถยนต์ ช่างตรวจสอบสภาพรถตรวจสภาพรถแล้ว บันทึกการตรวจรถในวันเดียวกันนั้นว่า “ไม่ผ่าน โดยมีข้อบกพร่องคือ มีร่องรอยการตัดต่อแผงกระจังหน้า (บริเวณหมายเลขตัวรถ)” แล้วยึดรถไว้ส่งไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานวิทยาการตำรวจ ตรวจพิสูจน์ และส่งไปให้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจสอบด้วย กองพิสูจน์หลักฐานตรวจพิสูจน์แล้วทำรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับเลขตัวรถ RA 31 – A 13448 นั้นรายงานว่า ตรวจพบการขูดลบแก้ไขที่บริเวณเลขหมายประจำตัวถังของรถยนต์คันนี้ โดยตรวจพบรอยตัดตัวถังรถ ส่วนที่มีเลขหมายประจำตัวถังเดิมออก แล้วนำชิ้นส่วนตัวถังรถคันอื่นที่มีเลขหมายประจำตัวถังที่ปรากฏมาเชื่อมต่อแทน จึงไม่อาจตรวจพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเลขหมายประจำตัวถังเดิมเป็นเลขอะไร และเลขหมาย RA 31 – A 13448 ที่ปรากฏอยู่ก่อนการตรวจพิสูจน์ไม่ใช่เลขหมายประจำตัวถังเดิมของรถยนต์คันนี้ และตรวจพบการตัดต่อตัวถังโดยนำตัวถังส่วนหน้าของรถยนต์คันหนึ่งมาเชื่อมต่อกับตัวถังส่วนหลังของรถยนต์อีกคันหนึ่งที่บริเวณหลังคาและพื้นรถใต้ที่วางเท้าตอนหลัง โจทก์ร้องเรียนไปยังส่วนคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 2 กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายสุชา หัวหน้าอุบัติเหตุสินไหมรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อนายสุปัญญา พนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 2 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 นายสุชาแจ้งว่ายินดีรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ซ่อมแซมโดยการตัดต่อส่วนหัวของรถ ส่วนจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าการตัดต่อส่วนหัวของรถจะทำให้หมายเลขตัวรถซึ่งอยู่ที่กระจังหน้ารถหายไปทำให้ไม่สามารถเสียภาษีประจำปีได้ จำเลยที่ 1 จึงทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับประกันภัยต้องร่วมรับผิดด้วย จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ กำหนดค่าเสียหายเกี่ยวกับตัวรถ 340,000 บาท และค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจใช้รถที่เช่าซื้อในการเดินทางไปทำงาน 60,000 บาท รวม 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ผู้เดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทราบและยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมโดยการตัดต่อส่วนหัวของรถ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ แต่คำพิพากษาที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เห็นควรให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้แล้วว่าโจทก์ไม่ทราบและไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมโดยการตัดต่อส่วนหัวของรถ การที่จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมโดยการตัดต่อส่วนหัวของรถเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ แม้โจทก์อายุ 40 ปี อาชีพรับราชการ โจทก์ก็ยืนยันอยู่ว่าโจทก์ไม่มีความเชี่ยวชาญไม่สามารถตรวจสอบส่วนที่ตัดต่อได้ ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะร่องรอยการตัดต่อต้องใช้ความชำนาญตามที่ได้เรียนมาและประสบการณ์ คนทั่วไปอาจไม่พบดังจะเห็นได้ตามคำเบิกความของนายสังคม ช่างตรวจสภาพรถ 4 ผู้ตรวจสอบรถที่เช่าซื้อ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความไว้ คำเบิกความของโจทก์จึงประกอบด้วยเหตุผลที่ดีมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยที่ 1 มีนางจรูญศรีเพียงปากเดียวเป็นพยาน เบิกความตามที่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ข้างต้น ที่นางจรูญศรีเบิกความว่า โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่าขอเปลี่ยนส่วนหัวของรถก็ดี และที่เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ซื้อส่วนหัวเก๋งมาจากต่างประเทศก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุนทั้ง ๆ ที่น่าจะมีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ดี จึงเป็นแต่คำเบิกความลอย ๆ มีน้ำหนักน้อย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์เปรียบเทียบกับพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมโดยการตัดต่อดังที่จำเลยที่ 1 ให้การ และพยานจำเลยที่ 2 มีเพียงนายสุชา เพียงปากเดียวมาเบิกความก็มิได้เบิกความว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมโดยการตัดต่อ ที่ศาลอุทธรณ์ยกเอาคำเบิกความของนางจรูญศรี พยานของจำเลยที่ 1 ที่เบิกความว่าโจทก์ประสงค์ให้เปลี่ยนส่วนหัวของรถมาวินิจฉัยนั้น คดีนี้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การคนละฉบับ สืบพยานแยกต่างหากจากกัน จำเลยที่ 1 สืบพยานปากเดียวคือนางจรูญศรี เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์เปรียบเทียบกับพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่มีนางจรูญศรี เบิกความเพียงปากเดียว แล้วรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 พอใจในคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 มิได้อ้างนางจรูญศรี เป็นพยานจำเลยที่ 2 ด้วย ศาลอุทธรณ์ยกเอาคำเบิกความของนางจรูญศรีมารับฟังเป็นพยานของจำเลยที่ 2 แล้ววินิจฉัยว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์หาชอบไม่ เมื่อศาลฎีกาเปรียบเทียบพยานหลักฐานของโจทก์กับพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์ไม่ทราบและไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมโดยการตัดต่อส่วนหัวของรถ การตัดต่อส่วนหัวของรถเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอู่ในเครือของจำเลยที่ 2 ซ่อมแซมรถที่โจทก์เช่าซื้ออันเป็นการปฏิบัติตามความผูกพันในการชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ซึ่งระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ ข้อ 3.5.1 จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องเลือกหาอู่ที่ซ่อมแซมดีเพื่อให้รถสามารถกลับไปใช้งานได้เป็นปกติตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการตัดต่อส่วนหัวของรถโดยไม่แจ้งโจทก์ทราบและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนผิดในการเลือกหาผู้รับจ้างซ่อมรถให้แก่โจทก์ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรถไม่ผ่านการตรวจสภาพเพื่อเสียภาษีประจำปีรถยนต์ โจทก์ไม่สามารถใช้สอยรถได้ตามปกติและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนจำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใด ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาเห็นว่า ได้ความตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อ 13 งวด รวมเป็นเงิน 180,000 บาทเศษ การทำละเมิดของฝ่ายจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยเสียสิทธิที่จะได้เป็นเจ้าของรถที่เช่าซื้อ เสียสิทธิที่จะครอบครองใช้สอยรถโดยชอบด้วยกฎหมาย เสียค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจใช้รถที่เช่าซื้อในการเดินทางไปทำงานตั้งแต่วันที่โจทก์นำรถไปตรวจสภาพและถูกยึดไว้ โจทก์จึงควรได้รับค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระรวมกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องและศาลชั้นต้นกำหนดให้เป็นค่าเสียหายเกี่ยวกับตัวรถนั้น โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ ไม่ใช่เจ้าของ ไม่อาจเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับตัวรถได้ แต่เล็งเห็นเจตนาของโจทก์ได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายโดยเทียบเคียงกับค่าเสียหายเกี่ยวกับตัวรถ ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดได้ และเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองรับผิดแก่โจทก์ 190,000 บาท

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 190,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

สรุป เลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์นำรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุเข้าซ่อมที่อู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอู่ซ่อมรถในเครือของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมด้วยการตัดต่อส่วนหัวของรถโดยโจทก์ไม่ทราบและไม่ได้ยินยอมทำให้หมายเลขตัวรถหายไป โจทก์ได้รับความเสียหายรถยนต์ไม่ผ่านการตรวจสภาพและไม่สามารถเสียภาษีประจำปีได้ โจทก์ไม่สามารถใช้สอยรถได้ตามปกติและชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอู่ในเครือของจำเลยที่ 2 ซ่อมแซมรถของโจทก์อันเป็นการปฏิบัติตามความผูกพันในการชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ซึ่งระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องเลือกหาอู่ที่ซ่อมแซมดีเพื่อให้รถสามารถกลับไปใช้งานได้เป็นปกติตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนผิดในการเลือกหาผู้รับจ้างซ่อมรถให้แก่โจทก์ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments