Home คดีครอบครัว ความรู้เกี่ยวกับการรับการรับช่วงสิทธิในคดีประกันภัย

ความรู้เกี่ยวกับการรับการรับช่วงสิทธิในคดีประกันภัย

2686

กรณีประกันภัยรถยนต์ กับการรับการรับช่วงสิทธิ 

ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๘๘๐  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

 

ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

 

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง  “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

กรณีผู้รับประกันภัยรถยนต์ เมื่อได้ชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้  เมื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เช่นนี้ผู้รับประกันภัยชอบที่จะเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันที่มีอยู่ในมูลหนี้ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับผิดต่อผู้เอาประกันภัย ตามมาตรา ๘๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ประกอบมาตรา ๒๒๖  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และสิทธิของผู้รับประกันภัยย่อมเป็นเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย

 

กรณีการฟ้องในมูลละเมิด ผู้เอาประกันภัยต้องฟ้องร้องเป็นคดี ในกำหนดอายุความ ๑  ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา ๔๔๘  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

และผู้รับประกันภัยในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยชอบที่จะฟ้องร้องคดี ภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่นกัน

 

 

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๑๕/๒๕๖๓

โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ เมื่อโจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย ที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๘๐ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๒๒๖ วรรคหนึ่ง สิทธิของโจทก์ย่อมเป็นเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย โดยเมื่อผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องในมูลละเมิดภายในกำหนดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึ่งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๔ วรรคหนึ่ง  นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึ่งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นกัน โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ เกินกำหนดไป ๑ วัน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่จำเลยที่ ๒ผู้เป็นคู่ความร่วมกันได้ให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยจำเลยที่_๒_ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่_๑_ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๙(๑) และแม้จำเลยที่ ๑ มิได้ฎีกา แต่เมื่อฟ้องโจทก์ขาดอายุความศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๕ (๑) ประกอบมาตรา ๒๕๒ ที่แก้ไขใหม่
.

         ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ผู้รับประกันภัยชอบที่จะรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย ตามมาตรา๘๘๐ประกอบมาตรา ๒๒๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไปฟ้องร้องคดีผู้กระทำละเมิด ภายในกำหนดอายุความ ๑ ปี ตามมาตรา ๔๔๘  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา 

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments