Home บทความคดีแพ่ง จุดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยการเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย คดีฉ้อโกง

จุดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยการเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย คดีฉ้อโกง

2680

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 ให้จำเลยคืนเงิน 5,330,000 บาท คืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 6 บาท พร้อมพระเครื่องหลวงพ่อโสธรเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา 300,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า นายวิเชียร เป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม), 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันเมล็ดฟักทองกับจำเลยและพวกเพื่อหลอกเอาเงินจากนายประจวบ พวกของจำเลย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงนำเงิน 5,330,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 6 บาท พร้อมพระเครื่องหลวงพ่อโสธรเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา 300,000 บาท มาร่วมลงทุน โดยจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาที่จะเล่นการพนัน ไม่มีเจตนาที่จะชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันและไม่ได้ร่วมกันเล่นการพนันดังกล่าว แต่จำเลยกับพวกมีเจตนาหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายมาแต่ต้น โดยใช้วิธีการวางแผนเป็นขบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนัน และให้นายประจวบเป็นผู้เล่นเพื่อหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งที่ผู้เสียหายไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยมาแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินและทรัพย์สินให้แก่จำเลยกับพวกเพื่อเล่นการพนันเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายวิเชียร ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

อนึ่ง เนื่องจากความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม), 83 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความจึงอาจต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าว

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป

  • สรุป
  • โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม), 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันเมล็ดฟักทองกับจำเลยและพวกเพื่อหลอกเอาเงินจาก ป. ซึ่งเป็นพวกของจำเลย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงนำเงิน 5,330,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 6 บาท พร้อมพระเครื่องหลวงพ่อโสธรเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา 300,000 บาท มาร่วมลงทุน โดยจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาที่จะเล่นการพนัน ไม่มีเจตนาที่จะชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันและไม่ได้ร่วมกันเล่นการพนันดังกล่าว แต่จำเลยกับพวกมีเจตนาหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายมาแต่ต้น โดยใช้วิธีการวางแผนเป็นกระบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนัน และให้ ป. เป็นผู้เล่นเพื่อหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งที่ผู้เสียหายไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยมาแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินและทรัพย์สินให้แก่จำเลยกับพวกเพื่อเล่นการพนันเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงอันจะเป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

    เนื่องจากความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม), 83 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความจึงอาจต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าว

Facebook Comments