ปลอมตั๋วเครื่องบิน แล้วนำมาหลอกขายผิดฉ้อโกงหรือไม่
-
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 264, 265, 268, 341 ริบของกลางจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1702/2533 จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8377/2534 และจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10276/2534 ของศาลชั้นต้นขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 แต่การใช้เอกสารสิทธิปลอมเกิดจากการปลอมเอกสารสิทธิดังกล่าว จึงลงโทษข้อหาใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่อย่างเดียวตามมาตรา 268 วรรคท้าย กับมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการใช้เอกสารสิทธิปลอมลงโทษในข้อหาใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 เรียงกระทงลงโทษจำเลยตามฟ้อง ข้อ 1.1ถึง 1.30 รวม 30 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 90 ปี แต่ข้อหาตามฟ้องกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ของกลางริบยกฟ้องข้อ 1.31 ถึง 1.40 และศาลให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยจำคุก 20 ปีเต็ม ตามกำหนดในมาตรา 91 (2) แล้วจึงไม่นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอื่น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 เรียงกระทงลงโทษรวม 30 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 180 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลย 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 , 268 และ 341 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2531 แบบพิมพ์ตั๋วเครื่องบินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความของสมาคมการบินระหว่างประเทศ (ไออาตา) จำนวน 500 ฉบับ ได้แก่ ใบสั่งจ่ายเบ็ดเตล็ด (เอ็มซีโอ) จำนวน 200 ฉบับ ตั๋วเดินทางแบบ 2 เที่ยว จำนวน 100 ฉบับ ตั๋วเดินทางแบบ 4 เที่ยว จำนวน 200 ฉบับ ได้หายไปจากบริษัทจากันต์แทรเวลแอนด์ทัวร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ตั๋วดังกล่าวเป็นตั๋วที่สมาคมการบินระหว่างประเทศ (ไออาตา) ส่งไปให้สมาชิกจำหน่ายออกให้แก่ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปกับเครื่องบินของสายการบินสมาชิกสมาคมการบินระหว่างประเทศ (ไออาตา) และประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2531 แบบพิมพ์ตั๋วเครื่องบินของสายการบิน มาเลเซียนแอร์ไลน์ กับแบบพิมพ์ตั๋วเครื่องบินของสายการบิน รอยัลบรูไนได้หายไปจากบริษัท บลูมูนแทรเวลเอเยนซี่ จำกัด กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกสำนักงานใหญ่สายการบิน ควอนตัส จึงแจ้งให้สำนักงานสาขาในประเทศไทยระวังตั๋วปลอม จึงมีการตรวจสอบพบว่าได้มีการนำตั๋วเครื่องบินของสมาคมการบินระหว่างประเทศ(ไออาตา) ไปกรอกข้อความปลอมใช้เดินทางไปแล้ว 30 เที่ยว ตามตั๋วในเอกสารหมายจ.1 ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2531 เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานพบว่ามีการนำตั๋วเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียนแอร์ไลน์ ตามเอกสารหมาย จ.4 และของสายการบิน รอยัลบรูไน ตามเอกสารหมาย จ.5 มากรอกข้อความปลอมและยื่นแสดงเพื่อใช้เดินทางออกจากประเทศไทย ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ในคดีอื่นแล้วได้กล่าวหาจำเลยตามข้อหาคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้ว่าโจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความถึงเหตุการณ์ขณะจำเลยกระทำความผิดแต่โจทก์มีนางสุด เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงและนางสาวสาวิตรี เจ้าของและทำงานตำแหน่งบัญชีของ ภาวีคอร์ตที่พักของจำเลยมาเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในจดหมายเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เป็นลายมือชื่อของจำเลย จำเลยเองก็ยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยจริง เมื่อนำลายมือชื่อดังกล่าวส่งไปตรวจพิสูจน์กับลายมือชื่อที่ลงในตั๋วเครื่องบินเอกสารหมาย จ.1 และใบสั่งจ่ายเบ็ดเตล็ดเอกสารหมาย จ.12 ที่มีผู้ปลอมเอกสารดังกล่าวร้อยตำรวจเอก พิษณุ ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อก็เบิกความยืนยันว่าพยานเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในจดหมายเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เปรียบเทียบลายมือชื่อในตั๋วเครื่องบินเอกสารหมาย จ.1 และใบสั่งจ่ายเบ็ดเตล็ดเอกสารหมาย จ.12 พบว่าลายมือชื่อที่ลงในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน นอกจากนี้พยานยังเบิกความอีกว่าการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวเป็นการตรวจตามหลักวิชาการสามารถยืนยันได้แน่นอนร้อยตำรวจเอก พิษณุเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยและไม่มีส่วนได้เสียในคดีจึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยเชื่อว่าเบิกความไปตามความสัตย์จริง อีกทั้งเป็นการตรวจตามหลักวิชาการจึงมีน้ำหนัก นอกจากนี้นางสาวสาวิตรียังเบิกความอีกว่ามีบุคคลต่างชาติเช่น อินเดียและปากีสถาน ฯลฯมาหาจำเลยวันละประมาณ 4-5 คน ที่ห้องพักจำเลยและยังค้นพบตั๋วเครื่องบินที่ถูกคนร้ายลักไปในห้องพักของจำเลยจำนวนมาก แม้ว่าจำเลยจะปฏิเสธว่าเป็นของนายปานดี แต่ก็เป็นการปฏิเสธลอยๆโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและพยานแวดล้อมแล้วเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วเครื่องบินเอกสารหมาย จ.1 และใบสั่งจ่ายเบ็ดเตล็ดเอกสารหมาย จ.12 จริงการที่จำเลยกรอกข้อความลงในตั๋วเครื่องบินเอกสารหมาย จ.1 และใบสั่งจ่ายเบ็ดเตล็ดเอกสารหมาย จ.12 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสายการบินเชื่อว่าเป็นตั๋วเครื่องบินที่แท้จริงซึ่งออกโดยบริษัทสายการบิน จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานปลอมตั๋วเครื่องบินเอกสารหมาย จ.1 ตามที่โจทก์ฟ้อง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาว่า ตั๋วเครื่องบินเป็นเอกสารสิทธิ จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธินั้น เห็นว่า ตั๋วเครื่องบินที่มีมูลค่าหรือราคาใช้ตามที่ปรากฏในตั๋ว เป็นตั๋วที่ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิที่จะใช้โดยสารเครื่องบินของสายการบินที่ปรากฏในตั๋ว ตั๋วเครื่องบินจึงเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อซึ่งสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) เป็นเอกสารสิทธิ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินตามฟ้อง ข้อ 1 จำนวน 30 ฉบับ ตั๋วเครื่องบินปลอมทั้ง 30 ฉบับนี้ ผู้มีชื่อในตั๋วได้นำไปใช้แล้วแสดงว่าจำเลยได้มอบตั๋วเครื่องบินทั้งหมดให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋วหรือมอบให้แก่ผู้อื่นซึ่งจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋วการมอบตั๋วเครื่องบินปลอมให้แก่บุคคลดังกล่าวจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทางและปรากฏว่าตั๋วเครื่องบินปลอมทั้งหมดได้ถูกนำไปใช้ในการเดินทางแล้ว ดังนั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการใช้ตั๋วเครื่องบินปลอมและการที่จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินนั้น จำเลยมีเจตนาที่จะให้ผู้มีชื่อในตั๋วได้เดินทางโดยสายการบินที่ปรากฏในตั๋วหรือสายการบินอื่นซึ่งจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋วทั้งหมดให้แก่เจ้าของสายการบินนั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาโดยทุจริตหลอกลวงเจ้าของสายการบินว่าจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินแล้ว อันเป็นความเท็จซึ่งความจริงมิได้ชำระทำให้เจ้าของสายการบินเสียหายทำให้ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ต้องชำระเงินเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าของสายการบิน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกงมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ก็ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
- สรุป
- ตั๋วเครื่องบินที่มีมูลค่าหรือราคาใช้ตามที่ปรากฏในตั๋ว เป็นตั๋วที่ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิที่จะใช้โดยสารเครื่องบินของสายการบินที่ปรากฏในตั๋ว จึงเป็นเอกสารสิทธิเพราะเป็นหลักฐานแห่งการก่อซึ่งสิทธิตาม ป.อ.มาตรา 1(9) จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินแล้ว ได้มอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋วหรือมอบให้แก่ผู้อื่นซึ่งจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทางและเมื่อตั๋วเครื่องบินปลอมได้ถูกนำไปใช้ในการเดินทางแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการ ใช้ตั๋วเครื่องบินปลอมและการที่จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินด้วยมีเจตนาที่จะให้ผู้มีชื่อในตั๋วได้เดินทางโดยจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋ว ไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋วแสดงว่าจำเลยมีเจตนาโดยทุจริตหลอกลวงเจ้าของสายการบินว่า จำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินแล้ว อันเป็นความเท็จทำให้ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ต้องชำระเงิน ถือว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าของสายการบิน