Home บทความคดีแพ่ง หมิ่นประมาท บุพการีอย่างร้ายแรงถือเป็นเหตุหย่าหรือไม่

หมิ่นประมาท บุพการีอย่างร้ายแรงถือเป็นเหตุหย่าหรือไม่

2095

หมิ่นประมาท บุพการีอย่างร้ายแรงถือเป็นเหตุหย่าหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2516

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้โจทก์เป็นผู้ปกครองบุตรสองคน และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม คดีไม่ขาดอายุความและเห็นว่าเหตุถึงขนาดฟ้องหย่าได้คงมีเหตุเดียวที่จำเลยกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์และบิดามารดาโจทก์ซึ่งเป็นการร้ายแรง พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ปกครองบุตรสองคนและให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีมีประเด็น ๓ ข้อ คือ (๑) ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ (๒) สมควรให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันหรือไม่ (๓) ถ้ามีการหย่ากันโจทก์หรือจำเลยสมควรเป็นผู้ปกครองบุตร แล้ววินิจฉัยประเด็นข้อ ๑ ว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ด่าหมิ่นประมาทโจทก์และบิดาโจทก์ซึ่งเป็นการร้ายแรงนั้น มีใจความว่าอย่างไร จำเลยย่อมไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้องเพราะไม่รู้ข้อหา และไม่เข้าใจข้อหาของโจทก์ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม และไม่จำต้องวินิจฉัยถึงประเด็นข้ออื่นต่อไป พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๐๐(๒) ระบุไว้ว่า “ฯลฯ หมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นการร้ายแรง ฯลฯ” ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์แล้วโจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยด่าว่าหมิ่นประมาทโจทก์และบิดามารดาโจทก์เป็นการร้ายแรงเสมอ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒ จำเลยได้พาลหาเหตุทะเลาะด่าว่าหมิ่นประมาทโจทก์และบิดามาราโจทก์” ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดว่าจำเลยด่าว่าหมิ่นประมาทโจทก์และบิดามารดาโจทก์ซึ่งเป็นการร้ายแรง ครบถ้วนตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๐๐(๒) บังคับไว้ จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นว่าคำฟ้องซึ่งกล่าวอ้างถึงเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๐๐(๒) ในเหตุหมิ่นประมาทนั้น ไม่เหมือนคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาเพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) วรรค ๒บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า ในคดีหมิ่นประมาทถ้อยคำพูดอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ ในคดีอาญาจึงต้องบรรยายฟ้องว่าข้อความหมิ่นประมาทนั้นมีใจความว่าอย่างไร ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๒๕/๒๔๙๓ ระหว่าง นางกล้วยไม้ โจทก์ นายอัญชัน จำเลยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาในประเด็นข้ออื่นที่ยังโต้เถียงกัน

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อ ๒, ๓ ซึ่งยังมิได้วินิจฉัย

สรุป

คำฟ้องซึ่งกล่าวอ้างถึงเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1500 (2) ในเหตุหมิ่นประมาทนั้น ไม่เหมือนคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) วรรคสองบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้กล่าวถึงถ้อยคำพูดอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทโดยบริบูรณ์ ฉะนั้น เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายเหตุหย่าไว้ชัดว่าจำเลยด่าว่าหมิ่นประมาทโจทก์และบิดามารดาโจทก์ซึ่งเป็นการร้ายแรงครบถ้วนตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1500 (2)บังคับไว้ย่อมเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1025/2493)

Facebook Comments