Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ไม่ปฏิบัติตามป้ายจราจร และขับรถชนรถไฟ ถือว่าประมาทหรือไม่

ไม่ปฏิบัติตามป้ายจราจร และขับรถชนรถไฟ ถือว่าประมาทหรือไม่

1445

ไม่ปฏิบัติตามป้ายจราจร และขับรถชนรถไฟ ถือว่าประมาทหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2534

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ซึ่งเอาประกันภัยค้ำจุน ไว้กับบริษัทจำเลยที่ 3 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ใกล้ถึงทางตัดผ่านทางรถไฟบริเวณที่หยุดรถ จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรที่กำหนดไว้ให้จำเลยต้องระวังและหยุดรถก่อนถึงทางรถไฟเพื่อดูว่ามีรถไฟผ่านหรือไม่ก่อนทั้ง ๆ ที่มีรถยนต์คันอื่นหยุดรถรออยู่ก่อนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 กลับคืนรถยนต์แซงรถยนต์คันที่จอดรอ ข้ามทางรถไฟซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ขบวนรถไฟของโจทก์ลากจูงโดยรถจักรดีเซลกำลังแล่นผ่านทางตอนนั้นพอดี สุดความสามารถที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์จะหยุดขบวนรถไฟได้ทัน จึงชนกับรถยนต์คันดังกล่าว ทำให้รถยนต์ตกไปข้างทางรถไฟ รถจักรดีเซลตกราง 2 ล้อ และได้รับความเสียหาย ทางรถไฟชำรุดเสียหายรถไฟที่ตกรางกีดขวางการเดินรถทำให้ขบวนรถอื่น ๆ เสียเวลา โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหาย 112,186 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า ความเสียหายของรถไฟขบวนที่ 349ไม่ได้เกินจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว เป็นเพราะความประมาทของโจทก์ด้วยบริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนกว้างมีทางแยกทางโค้ง โจทก์มีเพียงเครื่องหมายวงกลมบอกให้หยุดรถ โดยไม่มีที่กั้นไม่ให้รถยนต์ผ่านทางรถไฟขณะที่มีรถไฟแล่นผ่าน โจทก์ไม่มีพนักงานคอยดูแลความปลอดภัยและให้สัญญาณว่า เวลาใดรถยนต์แล่นผ่านได้หรือไม่ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถึงที่เกิดเหตุเป็นทางโค้งมีต้นไม้ขึ้นหนาทึบไม่อาจมองเห็นสัญญาณหรือรางรถไฟได้ว่าบริเวณดังกล่าวมีรถไฟผ่าน พนักงานของโจทก์เห็นจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์มาถึงที่เกิดเหตุในระยะไกลไม่ได้ให้ความระมัดระวังดูแลความปลอดภัยตามสมควร ไม่หยุดรถไฟทำให้รถไฟชนกับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ รถไฟไม่ได้ตกราง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย หากเรียกได้ก็ไม่เกิน2,000 บาท ค่าจัดรถไฟเดินแทนรถไฟคันที่เกิดเหตุไม่เกิน 9,000 บาทค่าซ่อมบำรุงทางรถไฟมิได้มีการจ่ายจริง ทางรถไฟไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวม 71,272.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2527 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวม 71,270 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2527เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่เห็นว่า เหตุที่รถเกิดชนกันนี้เพราะจำเลยที่ 1ขับรถยนต์ตัดหน้ารถไฟในระยะกระชั้นชิด ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การที่โจทก์ไม่จัดให้มีแผลกั้นทางขณะรถไฟแล่นผ่านที่ถนนตัดผ่านถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วยนั้น ข้อนี้ได้ความว่าใกล้บริเวณที่เกิดเหตุมีป้ายจราจรติดตั้งไว้ 2 ป้าย ป้ายแรกเขียนว่า ให้ระวังรถไฟ และอีกป้ายหนึ่งเขียนว่า หยุด ก่อนถึงทางรถไฟประมาณ 1 เมตร จำเลยไม่ได้หยุดรถ และเมื่อเห็นรถไฟแล่นมาขณะอยู่ห่างประมาณ 30 เมตร จำเลยที่ 1 ได้เร่งเครื่องเพื่อให้พ้น แต่ไม่ทันจึงเป็นเหตุให้ชนกับรถไฟเห็นว่าจำเลยละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ตรงกันข้ามกลับฝ่าฝืนและเสี่ยงภัยอย่างชัดแจ้ง ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทอย่างร้ายแรง กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประมาทแต่ฝ่ายเดียว ที่โจทก์ไม่มีแผลกั้นทางขณะรถไฟแล่นผ่านที่เกิดเหตุไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาว่าค่าเสียหายมีเพียงใดนั้น จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ค่าเสียหายมากเกินสมควร เพราะฝ่ายโจทก์ได้เคยตกลงค่าเสียหายกับพนักงานสอบสวนตามบันทึกประจำวันเอกสารหมาย จ.2 ว่าโจทก์เสียหาย 50,000 บาทเห็นว่าตามเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องประเมินความเสียหายชั้นต้นแต่ค่าเสียหายที่แท้จริงจะต้องรอตรวจสอบอีกครั่งหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่อาจถือได้ว่าข้อความที่บันทึกไว้ในเอกสารนั้นเป็นค่าเสียหายที่แน่นอนแล้ว สำหรับข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์คิดค่าเสียหายมากเกินไปผิดหลักที่ว่าค่าแรงจะไม่สูงกว่าค่าอะไหล่ ค่าขาดประโยชน์ก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ ปกติแล้วก็ไม่ได้เต็มตามที่โจทก์คิดเอาไว้และเรื่องค่าปั้นจั่นนั้น ปั้นจั่นก็เป็นของโจทก์ไม่น่าจะต้องเสียค่าจ้างอีกเห็นว่าโจทก์ได้มีระเบียบในการคิดค่าเสียหายไว้ใช้เป็นหลักในการคิดค่าเสียหาย ไม่ได้ใช้เฉพาะกรณีของจำเลยที่ 3 นี้เท่านั้น สำหรับค่าขาดประโยชน์นั้นโจทก์ก็ได้คิดเปรียบเทียบกับรถยนต์ว่าควรจะเป็นเท่าใด มีรายละเอียดที่พอเชื่อถือได้ สำหรับค่าปั้นจั่นนั้น แม้ปั้นจั่นจะเป็นของโจทก์แต่ก็ต้องมีการขนย้ายและเสียค่าใช้จ่าย เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดก็ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว อนึ่ง จำเลยที่ 3 เคยให้ตัวแทนไปติดต่อกับโจทก์เรื่องค่าเสียหาย โจทก์ได้เคยแจ้งให้ทราบว่าค่าเสียหายต่ำสุดที่จำเลยที่ 3จะต้องชำระนั้นเป็นจำนวน 92,670 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 71,270 บาท จึงสมควรและเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 อยู่แล้วฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน.

สรุป

ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุมีป้ายจราจรติดตั้งไว้ 2 ป้าย ป้ายแรกเขียนว่า ให้ระวังรถไฟ และอีกป้ายหนึ่งเขียนว่า หยุด แต่จำเลยที่ 1ไม่ได้หยุดรถ และเมื่อเห็นรถไฟแล่นมาขณะอยู่ห่างประมาณ 30 เมตรจำเลยที่ 1 เร่ง เครื่องยนต์ เพื่อขับข้ามทางรถไฟให้พ้น แต่ไม่ทันจึงเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนกับรถไฟ ดังนี้ จำเลยละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร กลับฝ่าฝืนและเสี่ยงภัยอย่างชัดแจ้งตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทอย่างร้ายแรงแม้การรถไฟแห่งประเทศไทยโจทก์ไม่มีแผงกั้นทางขณะรถไฟแล่นผ่านที่เกิดเหตุ ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย แต่เป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว โจทก์เคยตกลงค่าเสียหายกับพนักงานสอบสวนตามบันทึกประจำวันว่าโจทก์เสียหาย 50,000 บาท บันทึกดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินความเสียหายชั้นต้น แต่ค่าเสียหายที่แท้จริงจะต้องรอตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ไม่อาจถือได้ว่าข้อความที่บันทึกไว้ในเอกสารนั้นเป็นค่าเสียหายที่แน่นอนแล้ว โจทก์มีระเบียบในการคิดค่าเสียหายไว้ใช้เป็นหลักในการคิดค่าเสียหายไม่ได้ใช้เฉพาะกับกรณีของจำเลยเท่านั้นค่าขาดประโยชน์โจทก์ได้คิดเปรียบเทียบกับรถยนต์ว่าควรจะเป็นเท่าใด มีรายละเอียดที่พอเชื่อถือได้ ส่วนค่าปั้นจั่นยกรถ แม้ปั้นจั่นจะเป็นของโจทก์แต่ก็ต้องมีการขนย้ายและเสียค่าใช้จ่ายเมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดก็ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว.

Facebook Comments