Home ทั้งหมด การให้สัตยาบันในการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การให้สัตยาบันในการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

1967

การให้สัตยาบันในการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3606/2564

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 92, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ริบของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามกฎหมายและนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 271/2562 และหมายเลขแดงที่ 378/2562 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา นายเทียนหอม บิดาของนางสาวกระดังงา ผู้ตายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนข้อหาอื่นโจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะ 720,000 บาท และค่าปลงศพ 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 920,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ฐานใช้อาวุธปืนดังกล่าวไปฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษได้อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นจำคุก 8 เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 4 เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวมจำคุก 16 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานอื่นมารวมได้อีก คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 271/2562 และหมายเลขแดงที่ 378/2562 ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธปืนกลมือ (M 3) ขนาด .45 (11 มม.) ซองกระสุนปืน 1 อัน หัวกระสุนปืนขนาด .45 (11 มม.) 4 หัว ปลอกกระสุนปืนขนาด .45 (11 มม.) 5 ปลอก กระสุนปืนขนาด .45 (11 มม.) 25 นัด กระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 13 นัด กระสอบข้าวสาร ถุงพลาสติกสีน้ำเงิน และกระเป๋าสะพายสีดำ ของกลาง กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 300,000 บาท ยกคำร้องของโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ

โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ตามฟ้องข้อ 1 (ก) ฐานมีเครื่องกระสุนปืนขนาด .45 (11 มม.) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามฟ้องข้อ 1 (ข) (จ) ฐานใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามฟ้องข้อ 1 (ง) เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เป็นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และรับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นรับอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2562 ที่ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ โดยสั่งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ว่าอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ซึ่งน้อยกว่าระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ โดยศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องและไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์น้อยกว่าที่จำเลยที่ 1 ขอ อันไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 13 เมษายน 2563 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ผิดระเบียบดังกล่าวต่อพัศดีเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้จำเลยที่ 1 ฟัง จึงถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงต้องส่งคำร้องดังกล่าวไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งเสียเองเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 22 เมษายน 2563 แล้วรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ต่อมาก็รับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม โดยก่อนหน้านั้นศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง และศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยวิธีประชุมทางจอภาพวันที่ 14 เมษายน 2563 โดยในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำร้องฉบับลงวันที่ 13 เมษายน 2563 ที่ร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต่อศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่แถลงข้อเท็จจริงที่ร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต่อศาลชั้นต้นดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้สัตยาบันยอมรับกระบวนพิจารณาผิดระเบียบแล้ว จึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงข้อเท็จจริงที่ร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังกล่าวหรือโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และจำเลยที่ 1 ก็ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้วในวันที่ 13 เมษายน 2563 ก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียง 1 วัน อันแสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยอมรับว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแต่อย่างใด และมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่จะต้องให้จำเลยที่ 1 แถลงหรือโต้แย้งคัดค้านอีก ซึ่งในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีทนายความ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบก็เป็นความผิดพลาดของศาลชั้นต้น จึงไม่สมควรให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผลร้ายดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงหรือโต้แย้งคัดค้านดังกล่าวในวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงหาเป็นการให้สัตยาบันยอมรับการผิดระเบียบดังศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ เห็นได้จากจำเลยที่ 1 ยังฎีกาโต้แย้งในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งเองให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กับต่อมารับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ตลอดจนศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง โดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องพิจารณาพิพากษาใหม่ และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1), 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาและมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น

พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาอุทธรณ์กับรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และรับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม เป็นให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 22 เมษายน 2563 กับรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และรับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ยกคำพิพากษาและคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่

สรุป

การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงข้อเท็จจริงที่ร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียง 1 วัน อันแสดงว่าจำเลยมิได้ยอมรับว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแต่อย่างใด และมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่จะต้องให้จำเลยแถลงหรือโต้แย้งคัดค้านอีก ซึ่งในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยไม่มีทนายความ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเป็นความผิดพลาดของศาลชั้นต้น จึงไม่สมควรให้จำเลยต้องรับผลร้ายดังกล่าว การที่จำเลยไม่ได้แถลงหรือโต้แย้งคัดค้านในวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงหาเป็นการให้สัตยาบันยอมรับการผิดระเบียบ เห็นได้จากจำเลยยังฎีกาโต้แย้งในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งเองให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กับต่อมารับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ตลอดจนศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง โดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องพิจารณาพิพากษาใหม่ และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1), 252 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15

Facebook Comments