Home ทั้งหมด ร้องเรียนเรื่องความประพฤติของสามี เป็นเหตุฟ้องหย่าหรือไม่

ร้องเรียนเรื่องความประพฤติของสามี เป็นเหตุฟ้องหย่าหรือไม่

1156

ร้องเรียนเรื่องความประพฤติของสามี เป็นเหตุฟ้องหย่าหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสกัน เดิมโจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านพักของโจทก์ในค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ภายหลังจากอยู่กินด้วยกันมา 7 ปีเศษ จำเลยออกจากบ้านพักที่อาศัยอยู่กับโจทก์ แล้วไม่กลับมาอีกเลย สำหรับปัญหาว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ของการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ฎีกา ประเด็นดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าเหตุที่จำเลยแยกตัวไปอยู่ที่อื่นเพราะโจทก์ไม่ให้จำเลยไปอยู่ด้วย เนื่องจากสาเหตุที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาเมื่อมีการเจรจากันก็ไม่สามารถตกลงกันได้ และโจทก์เป็นฝ่ายไม่ให้กุญแจบ้านแก่จำเลย จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีและเห็นว่าจำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วยันไปที่หน้าอกของมารดาโจทก์ ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่สมควรที่บุตรสะใภ้จะกระทำต่อมารดาของสามีจึงไม่เป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจของบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างร้ายแรง โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์กับจำเลยมีปากเสียงกัน จำเลยพร้อมกับบิดาและมารดาของจำเลยจึงมาขนข้าวของทรัพย์สินออกจากบ้านพักแล้วแยกตัวไปอยู่ที่อื่นไม่กลับมาอยู่ร่วมกับโจทก์อีก ซึ่งเป็นการตัดสินใจของจำเลยเองที่จะไม่อยู่กินกับโจทก์ ส่วนเหตุที่โจทก์ไม่ยอมให้กุญแจบ้านพักกับจำเลยก็เพียงเพราะโจทก์ต้องการให้จำเลยถอนเรื่องร้องเรียนก่อน แต่เมื่อจำเลยไม่ถอนเรื่อง โจทก์จึงยังไม่ได้ให้กุญแจบ้านแก่จำเลยไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยมาอยู่ด้วย ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนเรื่องเหตุทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่า การใช้นิ้วยันที่หน้าอกของมารดาของโจทก์นั้นเป็นการทำร้ายร่างกายแล้ว ทั้งยังเป็นการกระทำที่ไม่สมควรและเป็นการทำร้ายจิตใจของมารดาโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งและเป็นอุทธรณ์ที่ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการดังกล่าวนั้นเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยเสียก่อน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า มีเหตุฟ้องหย่าอันเนื่องจากจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์เกินหนึ่งปีหรือไม่นั้น ทางนำสืบของจำเลยได้ความว่าโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาว ช. จำเลยได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาว ช. จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติว่า โจทก์ยกย่องนางสาว ช. เป็นภริยาระหว่างที่อยู่กินกันเป็นสามีภริยากับจำเลย ภายหลังจากที่จำเลยออกจากบ้านพักของโจทก์ไปแล้ว โจทก์ไม่ให้จำเลยเข้าบ้านพักของโจทก์อีกเพราะจำเลยร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของโจทก์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างโจทก์กับนางสาว ช. โจทก์ต้องการให้จำเลยถอนเรื่องร้องเรียนดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอม โจทก์จึงเปลี่ยนกุญแจบ้านพักและไม่ยอมให้จำเลยกลับเข้าพักอาศัยที่บ้านพักของโจทก์อีก เห็นว่า การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวโจทก์ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องมีความรักและหึงหวงสามีอันเป็นสิทธิของจำเลยที่ย่อมกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ก็ยังไม่ได้ถูกดำเนินการทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาว ช. ศาลฎีกาพิพากษาให้นางสาว ช. ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 500,000 บาท นั้นแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวเพื่อมิให้นางสาว ช. เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันจะทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว แม้จำเลยจะเป็นผู้ออกจากบ้านพักของโจทก์ไปก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ อีกทั้งพฤติกรรมของโจทก์ก็เป็นฝ่ายที่ไปยกย่องหญิงอื่น คือนางสาว ช. เป็นภริยา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปีอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4) อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการที่สองว่า มีเหตุฟ้องหย่าเนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายหรือจิตใจนาง ท. มารดาโจทก์อย่างร้ายแรงหรือไม่นั้น ได้ความจากนาง ท. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วจิ้มที่หน้าอกและยันที่หน้าอกของนาง ท. 1 ครั้งเท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นแต่เพียงการใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรเยี่ยงลูกสะใภ้พึงปฏิบัติต่อมารดาของสามีเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 (3) จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวมสามศาลให้ 15,000 บาท คำขออื่นให้ยก

สรุป

การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องมีความรักและหึงหวงสามีอันเป็นสิทธิของจำเลยย่อมกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ถูกดำเนินการทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ส. เป็นอีกคดีหนึ่งจนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 500,000 บาท ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวเพื่อไม่ให้ ส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันจะทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว แม้จำเลยจะเป็นผู้ออกจากบ้านพักโจทก์ไปก็เพราะโจทก์เปลี่ยนกุญแจบ้านทำให้จำเลยกลับเข้าไปในบ้านไม่ได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ทั้งพฤติกรรมของโจทก์ก็เป็นฝ่ายไปยกย่องหญิงอื่นคือ ส. เป็นภริยา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)

ส่วนที่จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วจิ้มที่หน้าอกและยันที่หน้าอกของ ท. มารดาของโจทก์ 1 ครั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรเยี่ยงบุตรสะใภ้พึงปฏิบัติต่อมารดาของสามีเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

Facebook Comments