Home คดีแพ่ง รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่คดี ตั้งผู้จัดการมรดก

รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่คดี ตั้งผู้จัดการมรดก

14858

รวมคำพิพากษาฎีกาใหม่คดี ตั้งผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2562

โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลย และ บ. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่จะใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทน จำเลยมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยแสดงทรัพย์มรดกเพียงบางส่วน โดยปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้รับจากกองมรดก จึงไม่สามารถจัดการแบ่งมรดกได้ ขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่พึงได้หนึ่งในสี่ส่วน หรือให้ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ย กับขอให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปิดบังไม่นำทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแบ่งปันให้แก่ทายาท อันเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งมรดก ก็มิใช่เป็นการฟ้องคดีจัดการมรดก ซึ่งกรณีมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหลายคนต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ที่บัญญัติให้การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2562

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าการมอบอำนาจของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านยอมรับว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านถูกต้องแล้ว กรณีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีภาระที่จะต้องพิสูจน์และส่งอ้างเอกสารหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือมอบอำนาจนั้นจะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม และไม่มีกรณีต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามมิให้รับฟังตราสารที่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้คัดค้านได้มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทน การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย

คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไว้ โดยข้อ 1 ของพินัยกรรมดังกล่าวระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แต่เพียงผู้เดียว เมื่อผู้คัดค้านเป็นวัดทางคริสตศาสนามีที่ตั้งที่แน่นอนและอยู่ภายใต้สังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยตามหนังสือรับรอง ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายที่ระบุว่าคริสตจักร ศ. สังกัดคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่ มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ประกอบกับตามสำเนาโฉนดที่ดินอันเป็นที่ตั้งของผู้คัดค้านก็ระบุว่า มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เมื่อข้อความตามพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1684 บัญญัติว่า “เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้หลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด” ดังนี้ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ย่อมตีความตามความประสงค์ของผู้ตายว่า ผู้ตายประสงค์ที่จะยกที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเพื่อใช้ในกิจกรรมของผู้คัดค้าน เมื่อมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามตราสารการตั้งมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งข้อ 5 ของเอกสารดังกล่าวระบุเรื่องข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินไว้ว่า ได้แก่ สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์สุดแต่จะมีผู้ศรัทธาหรืออุทิศบริจาคให้ ดังนี้ ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยย่อมรับเอาที่ดินที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้ไว้ได้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อพินัยกรรม ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอื่นอีก เช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1713 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4966/2562

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนให้ยกคำร้อง และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลชั้นต้นไปแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าว จึงมีผลให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องนั้นเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ดังนั้น ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องที่ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นร้องขัดทรัพย์นี้เป็นประการใด ก็ไม่อาจมีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องไปแล้วได้ ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562

โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า “นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน” และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2562

การขอตั้งผู้จัดการมรดก การเป็นผู้จัดการมรดก หรือการคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง ทายาทของผู้ร้องไม่อาจเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ ผู้ร้องถึงแก่ความตายก่อนยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้อง ทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องย่อมหมดสภาพจากการเป็นทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้อง และถือว่าล่วงเลยเวลาที่ทนายผู้ร้องจะจัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ที่ผู้ร้องมอบหมายแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องอีกต่อไป การที่ผู้ร้องฎีกาโดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/36 ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทลำดับที่หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

 

จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้

จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด” จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้

จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3771/2562

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (1) ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นกรณีที่บุคคลอื่นนอกจากคู่ความได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคู่ความ ต้องดำเนินคดีไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรม จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก หาเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องของผู้ร้องไม่ และไม่ทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง เช่น กรณีศาลสั่งจำหน่ายคดี เพราะทิ้งฟ้องหรือถอนฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบมาตรา 132 (1) ศาลชั้นต้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ดังกล่าวต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งจำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2562

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความ และฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้มีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

อ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ตามกฎหมาย อ. ย่อมมีสิทธิที่จะให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้จำนองแทน โจทก์ที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลว่าเป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทได้ ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94

โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจของธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องบังคับเอาแก่ ป. ผู้ตาย หรือกองมรดกของ ป. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 230

สิทธิของโจทก์ที่ 1 ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้แทนไป

การที่ ป. ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เพียงแต่ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยที่อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 การให้จึงยังไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 4 ยังไม่มีความผูกพันตามสัญญาการให้ที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2562

ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีทายาทด้วยกัน 5 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายฝากที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม 4 ใน 5 ส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้

แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

 

Facebook Comments