Home บทความ สัญญาจ้างทำของกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่

สัญญาจ้างทำของกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่

1966

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจัดการของจำเลยที่ 1ได้ว่าจ้างโจทก์ถมดินคิดเป็นเงินค่าจ้าง 97,850 บาท โจทก์ได้ถมดินให้เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมจ่ายเงินให้ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยทั้งสองให้การว่า อำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามที่จดทะเบียนไว้ต้องมีสามนายร่วมกันลงลายมือชื่อในเอกสารสำคัญแทนบริษัทและต้องประทับตราของบริษัทด้วย จำเลยที่ 1 ไม่เคยจ้างโจทก์ถมดินใบสั่งที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่โจทก์ ก็ออกให้โดยโจทก์ขอร้องและลงชื่อกรรมการนายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นลายมือชื่อของบริษัทและกิจการตามใบสั่งนี้อยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของบริษัทจึงไม่ผูกพันทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวต้องรับผิดจำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด จึงให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ได้จ้างโจทก์ถมดินโดยกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จริง และใบสั่งที่จำเลยที่ 2 ออกให้โจทก์นั้นจำเลยที่ 2 กระทำการเป็นตัวแทนบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องมีกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 อีก 2 คนลงชื่อและประทับตรา เพราะมิใช่เอกสารที่ผู้แทนบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำ แม้สัญญาจ้างถมดินจะมิได้ทำเป็นหนังสือจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดเพราะสัญญาเช่นนี้กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการจัดการ จำเลยที่ 2 ได้ออกใบสั่งให้โจทก์ถมดินให้จำเลยที่ 1 โดยลงชื่อในใบสั่งนั้นคนเดียวแม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จะมีว่า ‘กรรมการสามนายร่วมกันลงลายมือชื่อในเอกสารสำคัญแทนบริษัทและต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย’ ก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ผูกมัดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำการเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และใบสั่งมิใช่เอกสารที่ผู้แทนจำเลยที่ 1 กระทำ

สัญญาจ้างถมที่ดินไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด

Facebook Comments