Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เป็นเจ้าของรถนั่งควบคุมรถไปด้วย เกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดหรือไม่

เป็นเจ้าของรถนั่งควบคุมรถไปด้วย เกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดหรือไม่

2351

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ชพ.01377 ไว้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2530 มีระยะเวลาคุ้มครองหนึ่งปี จำเลยที่ 1เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชบ.27712 และเป็นนายจ้างนายคำแสนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนชบ.27712 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2520 ขณะที่นายจำรัส เจริญสุข ขับรถคันหมายเลขทะเบียน ชพ.01377 จากจังหวัดชุมพรมาตามถนนเพชรเกษมไปกรุงเทพมหานครถึงหลักกิโลเมตรที่ 306 – 307 เกิดชนกับรถคันหมายเลขทะเบียน ชบ.27712 ของจำเลยที่ 1 และโดยความประมาทเลินเล่อของนายคำแสนคนขับรถของจำเลยที่ 1ฝ่ายเดียว ทำให้รถที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายมาก โจทก์ได้จัดการซ่อมเสียค่าซ่อมไป 104,100 บาท จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันมาฟ้องคดีนี้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ

จำเลยที่ 1 ให้การว่ามีภูมิลำเนาที่จังหวัดนนทบุรี เขตอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรีนอกเขตอำนาจศาลแพ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่ง จำเลยที่ 1มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ชบ.27712 ไม่ได้เป็นนายจ้างนายคำแสน ขณะเกิดเหตุรถยนต์คันนี้ไม่ได้มีสัญญาประกันภัยเป็นหนังสือไว้กับจำเลยที่ 2 เหตุเกิดขึ้นเพราะนายจำรัสขับรถคันหมายเลขทะเบียน ชพ.01377 ด้วยความประมาท โจทก์ไม่ได้จ่ายเงินค่าซ่อมรถตามฟ้องจึงไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนชพ.01377 และไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 104,100 บาทแก่ผู้เอาประกันภัยจึงไม่ได้รับช่วงสิทธิ ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ชบ.27712 เหตุที่รถชนกันเพราะความประมาทของคนขับรถคันหมายเลขทะเบียน ชพ.01377 คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 79,500 บาทพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลแพ่งและศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เพราะจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี และจะถือว่าศาลแพ่งใช้ดุลพินิจรับคดีไว้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(3) ไม่ได้ เพราะในประเด็นเรื่องนี้ศาลแพ่งมิได้วินิจฉัยไว้การฟ้องคดีจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(2)

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่มูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกกันได้ โจทก์จึงเสนอคำฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 วรรคสอง

พิพากษายืน

สรุป แม้เป็นเจ้าของรถยนต์นั่งควบคุมรถไปแล้ว แม้มิได้เป็นนายจ้าง ก็ถือว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ต้องรับผิด

Facebook Comments